รู้จักไหม ยอดแหลม น่ะ ยอดแหลม


"เด็กยอดแหลม" "รถคันนี้ไปยอดแหลม" "ยอดแหลมออกเลยพี่..."

ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าใครหรือบุคคคลคนไหน
ที่นำชื่อของจังหวัดๆหนึ่งในเขตภาคกลาง มาตั้งชื่อว่ายอดแหลม
รู้แต่ว่า ถ้าให้เดา ผมคงเดาไปเรื่อยเปื่อย ถึงขั้นว่า
ต้องอาศัย Logic มาช่วย เพราะว่ายอดแหลมน่าจะหมายถึง
จังหวัดที่อยู่ทางแหลมสุดของประเทศไทย
ถ้าไม่ตราด ก็สมุทรสาคร(มันแหลมตรงไหน)
แต่ไม่ต้องเดาดีกว่าเพราะไม่น่าจะถูก เป็นอันว่า
รุ้กันไว้แล้วกันว่า ยอดแหลมที่ว่า หมายถึง
จังหวัดนครปฐม
ผมมีอดีตกับจังหวัดนครปฐมมากกว่าสามปี เนื่องด้วยสมัยเด็กๆ
ถูกจับส่งมาอยู่โรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม
ในช่วงสามเดือนแรกที่อยู่ที่โรงเรียนประจำแห่งนี้
ผมนั่งจับเจ่าอยู่ริมรั้วของโรงเรียน กิจกรรมที่ทำทุกเวลาว่าง
ในช่วงสามเดือนแรกของการอยู่โรงเรียนประจำก็คือ
การนั่งร้องห่มร้องไห้ ร้องไห้คิดถึงพ่อ แม่ และคนอื่นๆ
ตอนนั้น ผมมักจะมีความคิดสองอย่างอยู่ในใจคือ
คิดถึงบ้าน และอีกความคิดหนึ่งคือ อยากหนีกลับบ้าน
ในส่วนของความคิดหนีออกจากโรงเรียน
ผมก็จะคอยจ้องมองดูรถราที่วิ่งผ่านหน้าโรงเรียน ว่า
มันจะมีรถสายไหนวิ่งจากนครปฐม ไปยังจังหวัดอยุธยาบ้าง
จะได้แอบบดอด หนีขึ้นรถไป(ฮึ มันคงจะมีหรอก)
จนแล้วจนรอด รถที่เห็นก็จะมีแค่ ราชบุรี กาญจนบุรี
แล้วก็นครปฐมเท่านั้น แต่ก็แปลก เด็กท้าย
หรือ พนักงานเก็บสตางค์ของรถสายนครปฐมทุกคัน
ยามเข้าป้าย ผมจะได้ยินเขาตะโกนบอกคนที่ยืนรีๆรอๆ
อยู่ริมถนนว่า ยอดแหลมครับยอดแหลมเลยคร้าบบบบบ
แถมที่บนรถ จะมีสติกเกอร์ติดว่าเด็ก ยอดแหลม
พร้อมด้วยรูปองค์ พระปฐมเจดีย์อันเป็นสิ่งสักการะบูชาของชาวนครปฐม
แปะคู่อยู่ด้วยเสมอ และนั่นก็น่าจะเป็นที่มาของคำว่ายอดแหลม
ที่ผมรู้จักมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ซึ่งเป้นอันว่าหมายถึง
ทรงยอดของเจดีย์ขององค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐมนั่นเอง

หลังจากจบการศึกษาภาค(ถูก)บังคับแล้วนั้น เป็นอันว่าผมไม่ได้มีโอกาส
ไปเยี่ยมเยียนบ้านเก่าอีกเลย จนกระทั่งมาพบว่าน้องชายคนหนึ่ง
ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน กำลังจะกลายเป็น "เขยยอดแหลม"
ความคิดที่จะกลับไปเยือนถิ่นเก่าจึงเกิดขึ้น
เหมือนเดิมแหละครับ ไอ้การที่จะไปไหนง่ายๆแค่สตาร์ทรถไป
แล้วก็ บึ่งรถกลับนี่ ไม่ค่อยจะอยู่ในหัวผมสักเท่าไหร่
ค่าที่ว่า น้ำมันรถ ระยะทาง และเงินในระเป๋าสตางค์ของผมนั้น
ไม่ค่อยจะสัมพันธ์กันเสียเท่าไหร่ จึงเป็นอันว่า
ผมกลายเป็นคนอนุรักษ์โลก
อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปโดยปริยาย
เช้าวันที่เดินทางผมตัดสินใจที่จะใช้เงินสิบบาทแรก
ขึ้นมอร์เตอร์ไซด์ รับจ้างเนื่องจากคิดคำนวณแล้วว่า
ทริปนี้มีเดินไกล ยังไงเสียก็ควรจะสงวนแรงไว้ก่อน ก่อนจะต้องเดิน
แบบสุ่มทิศสุ่มทางไปเรื่อยๆ
จากปากซอย ด้วยรถเมล์สายหนึ่ง(จำไม่ได้ว่าสายอะไร)
พาผมไปบรรจบกับถนนเพชรเกษมที่เป็นถนนที่มุ่งหน้าไปยังจังหวัดนครปฐมได้
จากนั้นด้วยความโชคดีของผม รัฐท่านอุตส่าห์ส่ง
"รถเมล์ฟรีเพื่อประชาชน" สาย84มาให้ผมขึ้น ด้วยว่าเป็นวันธรรมดา
และเป็นช่วงเวลาสายแล้ว รถเมล์จึงค่อนข้างว่าง
บนถนนมีรถบางตา จึงใช้เวลาเดินทางออกจากกรุงเทพโดยไม่นาน
จากย่านบางแคที่ผมขึ้นรถ สาย84 ก็มุ่งหน้ามาสุดสายที่แถวๆอ้อมน้อย
กระทั่งเมื่อลงจากรถ ด้วยความปากหนักของผม ผมจึงไม่ได้ถามใครว่า
จะไปนครปฐมอย่างไรต่อไป แต่ผมก็ใช้ยืนเต๊ะวางท่า
ว่าข้านี่ไม่ได้โง่นะ ไม่ได้หลงนะ แล้วมาบ่อยๆนะเฟ้ย แต่ตาก็คอยมอง
ชำเลืองดูป้ายข้างๆรถเอา และอนุมานเอาว่า
รถที่เขียนป้ายด้านข้างว่า นครปฐม แปลว่าไปนครปฐมอย่างแน่นอน
ไม่ช้าไม่นาน รถคันหนึ่ง สีเขียวๆคล้ายรถมินิบัสในกรุงเทพก็เข้ามาจอดเทียบ
ที่แน่ๆด้านข้างรถเขียนว่านครปฐม ผมจึงไม่รีรอที่จะรีบกระโดดขึ้นไปทันที
ค่าโดยสารเพื่อการนี้ 20 บาทถ้วน


เมื่อรถสีเขียวเก่าๆคันนี้วิ่งเหยาะๆเข้ามาที่นครปฐม ผมก็คิดๆอยู่ในใจว่า
ผมควรจะลงตรงไหนดี เพราะความทรงจำเกี่ยวกับนครปฐมและตัวเมือง
นครปฐมนั้น มันเลือนลางเต็มทน
เมื่อรถผ่านเข้ามาจนกระทั่งติดไฟแดงตรงแยกๆหนึ่ง
ผมชะโงกหน้าออกไปนอกหน้าต่าง แลเห็นองค์พระปฐมเจดีย์
ผมจึงตัดสินใจในทันทีว่า จะลงตรงนี้แหละ เพราะเรามาถูกทางและถึงที่หมายแล้ว

องค์พระปฐมเจดีย์อันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครปฐมแห่งนี้
ถูกสร้างขึ้นในสมัยใดไม่แน่ชัด แต่จากที่ได้อ่านๆดูประวัติย่อนั้น
องค์พระปฐมเจดีย์ถูกสร้างในราวๆสมัยเดียวกับครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช
ยังครองราชสมบัติอยู่แน่นอนเพราะลักษณะองค์เจดีย์นั้น
เดิมเป็นสถูปกลมรูปทรงคล้ายบาตรคว่ำ (โอคว่ำ) แบบสัญจิเจดีย์
ในประเทศอินเดียที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้
มีผู้รู้หลายท่านได้สันนิษฐานว่า องค์พระปฐมเจดีย์มีการสร้างและปฏิสังขรณ์มา
อย่างน้อย 3 ครั้งแล้วดังนี้
สมัยสุวรรณภูมิ คือ ระยะการสร้างครั้งแรก ราวพุทธศักราช 300-1000
สมัยทวารวดี มีการสร้างเพิ่มเติม ประมาณช่วงพุทธศักราช 1000-1600
ครั้งที่ 3 ก็คือสมัยที่มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ใน สมัยรัตนโกสินทร์
ส่วนตำนานที่เล่าๆกันมาอีกสายหนึ่งก็คงจะเป็นเรื่องตานานของพระยากงพระยาพาน
ที่มีการทำปิตุฆาต(กรุณาแสวงหาตำนานเหล่านี้อ่านเองเถิดท่านผู้เจริญ)
จึงจำต้องล้างบาปที่พึงกระทำด้วยการสร้างพระเจดีย์คือ
สร้างพระเจดีย์สูงเท่ากับนกเขาเหิน และหลังจากสร้างเสร็จ
ก็ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ(พระเขี้ยวแก้ว)ไว้ภายในด้วย
ซึ่งนั่นก็เป็นตำนานที่เล่าขานสืบกันมา
แต่ที่แน่ๆ พระปฐมเจดีย์นั้นเป็นเจดีย์ที่มีขนาด องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วย
ผมเดินดุ่ยเข้าไปยังองค์พระ(เรียกสั้นๆแล้วกันครับ คนที่นี่เรียกองค์พระกันทุกคน)
จากนั้นก็เริ่มมองหามุมเหมาะๆ เก็บภาพไปเรื่อยเปื่อยตามประสาช่างกล้องสมัครเล่น
บรรยากาศภายในองค์พระเย็นสบายกำลังดี มีนักเรียนเด็กที่มาทัศนะศึกษา
ยืนดูนู่นดูนี่เป็นกลุ่มๆโดยที่มีคุณครูคอยให้ความรู้ในเรื่องนั้นๆ
ผมดอดแอบไปเงี่ยหูฟังอยู่บ้าง ก็คงไม่พ้นเรื่องของประวัติความเป็นมา
ขององค์พระผมเองก็ได้ทราบเรื่องราวที่เกี่ยวกับความแปลกประหลาด
แลเห็นเป็นมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งขององค์พระที่ออกจะเป็นแนววิทยาศาสตร์นิดๆ
อยู่ว่า เงาขององค์พระไม่เคยตกทอดหรือต้องลงบนพื้นภายนอกเขตคาม
ของวัดเลย(บางตำนานหนักกว่า ท่านว่าองค์พระไม่มีเงา!!!)
หน้าที่ของคนช่างสังเกต(น้อย)อย่างผมจึงไม่วายต้องเดินไปรอบๆ
เพื่อหาดูว่า ตำนานมันเป็นจริงหรือไม่

ตามรูป คงไม่ต้องอธิบายแล้วกระมัง

จากนั้นผมก็เดินถ่ายภาพไปรอบๆองค์พระ และไม่ลืมที่จะเข้าไปนมัสการ
หลวงพ่อพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่ประดิษฐานอยู่ภายในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ด้วย
เพื่อความเป็นศิริมงคล
หลังจากใช้เวลาพอสมควรกับการเดินวนไปวนมา
จนอิ่มอกอิ่มใจในบริเวณองค์พระแล้วเวลาก็เคลื่อนเข้าช่วงประมาณเพล พอดีๆ
แน่นอน อาหารประจำจังหวัดนครปฐมนี่คงหนี
ไม่พ้นข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ ผมจึงใช้วิธีโทรศัพท์ไปถามความเอากับ
น้องชายว่าที่เขยนครปฐม ซึ่งสอบถามได้ความมาว่า
ข้าวหมูแดงหมูกรอบนั้นนครปฐม
มีหลายสิบเจ้าอร่อยเหมือนกันหมด แต่ที่เห็นว่าใกล้และเป็นทางผ่าน
ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวแห่งต่อไปของผมก็เห็นจะมีอยู่เจ้าเดียว
คือเจ้าปฐมโภชนาได้ความดังนั้นผมก็ไม่รั้งรอ ด้วยว่าท้องมันหิว
จนประท้วงแล้วว่า น้ำที่ดื่มๆแก้ขัดไปพลางไปนั้น
ไม่ได้ช่วยอะไรเลย(ก็มันจนนี่หว่า ทำไงได้)
ครับก็ตามเคยสองจาน จานหนึ่งแก้หิว อีกจานแก้อยาก...ไหนว่าจนไง

หลังจากที่อิ่มหมีพลีมัน(หมู)แล้วขา ก็เริ่มปฎิบัติการออกเดินต่อ
จุดมุ่งหมายต่อไปคราวนี้ก็คือพระราชวังสนามจันทร์
ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากองค์พระเท่าไหร่นัก เดินตรงๆไปก็พบ
แต่ด้วยความชราภาพ หรือร่างกายไม่สมประกอบ มิทราบได้
(ไขข้อเสื่อมแล้วท่านผู้เจริญ)
ระยะทางจากองค์พระไปยังพระราชวังสนามจันทร์นั้น
กลายเป็นอุปสรรค์สำหรับ
การเดินตามปกติของผม ประกอบกับเวลาที่เป็นเวลาเที่ยงกว่าๆย่างเข้าบ่ายโมง
มันช่างร้อนจับจิต ผมจึงต้องหันมาใช้บริการของสุภาพบุรุษมอร์เตอร์ไซรับจ้าง
เป็นสารถีพาไปยังจุดหมายแทนการย่างเดินไปด้วยขาซึ่งไม่รู้ว่า
จะถึงหรือพาลจะเป็นลมกลางทางเดือดร้อนชาวนครปฐมกันอีก

จะว่าไปพระราชวังสนามจันทร์นี่เป็นสถานที่แห่งหนึ่ง
ที่ผมได้ยินชื่อมาผ่านๆหูอยู่บ่อยๆ ในช่วงที่มี "โอกาส" ได้ไปคลุกคลีตีขลุม
อยู่กับพี่ๆชาวมหาวิทยาลัยศิลปากรในช่วงหนึ่งว่า สาวอักษรแถวๆ
วิทยาเขตทับแก้ว(ส่วนหนึ่งของพระราชวังสนามจันทร์)สวย
แต่ก็อย่างว่า ไอ้ด้วยความที่เรามันเด็ก จะไปประสีประสาอะไรมากมาย
กับคำว่าสวย แค่ได้ยินชื่อทับแก้ว ก็พาลให้สงสัยจะแย่อยู่แล้ว
ว่าอะไร ที่ไป "ทับ" "แก้ว" แล้วแก้วมันมิบาดเอาเป็นแผลแย่ฤา
จนกระทั่งมีพี่คนหนึ่งมาหัวเราะใส่หน้าโง่ๆของผมแล้วอรรถาธิบาย
บรรยายความว่า "ทับ" นั่นหมายถึง"เรือน หรือ บ้าน" โว๊ย
ไม่ได้มีใครไปทับแก้วทั้งนั้น....ไอ้เฉิ่ม
อ้าวใครจะไปทราบได้ แต่นั่นก็กลายเป็นที่มาที่ทำให้ผมอยาก
จะรู้ว่าทับแก้วนั้นเป็นเรือนหน้าตาแบบไหน
อยู่ตรงไหนของนครปฐมแต่ก่อนผ่านไปผ่านมาจนทั่ว ไม่ยักกะเคย
ได้ยินชื่อบ้านชื่อเรือนที่ว่านี้เลย เคยได้ยินแต่สนามจันทร์ๆ
แล้วทับแก้วนี่อยู่ตรงไหนหนอ แต่จนแล้วจนรอดคงด้วยความที่
ไม่ค่อยได้เอาใจใส่เรื่องของการท่องเที่ยวแบบเดินๆชมๆ
ก็แน่หละ วัยรุ่น พลังมันพลุ่งพล่านล้นเหลือ
มีหรือจะให้มาเดินเที่ยวชมพิพิฒภัณฑ์ที่อยู่นิ่งๆ จับต้องขยับ
เขยื้อน เคลื่อนย้ายไม่ได้ แถมเวลาดูต้อง
เก็บไม้เก็บมือไพล่(มัด) เอาไว้ข้างหลังละก็ เห็นทีจะยาก
นู่่น ต้องไปป่าไปทะเล ปีนเขา กระโดดน้ำ จับปูจับปลาเดินป่า
ส่องสัตว์ให้พลังมันหมดไปนู่น ถึงจะเหมาะกับวัย
ดังนั้น พระราชวังสนามจันทร์ เรือนทับแก้ว จึงเลือนหายไปในช่วง
ของความเป็นวัยหนุ่มของผม จนกระทั่งพลังหนุ่มมันหมด
หดหายไป เวลาจึงเลื่อนสถานที่ท่องเที่ยวอย่างมัดมือชม ออกมาด้านหน้า
ยามเมื่อวัยชราเริ่มย่างเหยาะเข้ามาให้เห็นเงาแต่ไกลๆ

พระราชวังสนามจันทร์แห่งนี้ก่อสร้างขึ้นโดยพระราชดำริ
ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่หก
ดังมีประวัติความเป็นมาดังต่อไปนี้
"พระราชวังสนามจันทร์เป็นพระราชวังที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนบริเวณที่คาดว่าเป็นพระราชวังเก่า
ของกษัตริย์สมัยโบราณที่เรียกว่า เนินปราสาท
เพื่อเป็นสถานที่ประทับครั้งมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์
และเมื่อบ้านเมืองถึงยามวิกฤตพระราชวังใช้เวลาก่อสร้างนาน 4 ปี
โดยมี หลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลป์) ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ
เลื่อนยศเป็นพระยาวิศุกรรม ศิลปประสิทธิ์ เป็นแม่งาน
และสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2450 เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงได้พระราชทานนามว่า
"พระราชวังสนามจันทร์" ตามชื่อสระน้ำโบราณหน้าโบสถ์พราหมณ์
(ปัจจุบันไม่มีโบสถ์พราหมณ์เหลืออยู่แล้ว) สระน้ำจันทร์ หรือ สระบัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชพินัยกรรม
แสดงพระราชประสงค์ยกพระราชวังสนามจันทร์
ให้เป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยทหารบก
ในปัจจุบัน พระราชวังสนามจันทร์อยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง
ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย นายนาวิน ขันธหิรัญ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม
และมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ลิขิต กาญจนาภรณ์
ถวายคืนพระราชวังสนามจันทร์แก่สำนักพระราชวัง...(ที่มา วิกิพีเดีย)...."
ด้านหน้าประตูทางเข้าของพระราชวังสนามจันทร์ มีเรือนไทยกลุ่มหนึ่ง
ตั้งอยู่เรียงรายหลายหลังหนึ่งในเรือนที่เปิดให้เดินเข้าไปชมได้ก็คือเรือนทับเจริญ
ซึ่งถูกแยกออกมาโดดเดียวโดยถูกถนนแบ่งออกจากเรือนอื่นๆ
ตัวเรือนสร้างจากไม้ทั้งหลัง ทาสีเขียว
ในช่วงที่ผมเดินเข้าไปชมเรือนทับเจริญนั้น เป็นเวลาค่อนไปทางบ่าย
ยามนั้นบนเรือนทับเจริญเห็นจะมีแต่ผมเพียงคนเดียว
บรรยากาศบนเรือนเงียบสงัดมาก ช่วงที่ผมเดินเข้าไปในห้องในสุดของเรือน
ผมรู้สึกขนลุก จะด้วยความที่อากาศภายในเรือนนั้นค่อนข้างเย็น
หรือจะเป็นเพราะตัวเรือนที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์
จึงไม่ได้มีการเปิดหน้าต่างออกรับแสงภายนอก
แต่ใช้แสงไฟหลอดกลมเพียงดวงเดียวเป็นแสงสว่าง
ซึ่งให้เพียงแต่แสงสลัวๆเท่านั้น บรรยากาศจึงดูย้อนยุคหน่อยๆ
ผมจึงใช้เวลาชมรายละเอียดของแต่ละห้องได้เพียงไม่นาน
ด้วยเกรงว่าจะพบเจอกับท่านเจ้าของเรือนหรือท่านผู้เคยพำนักอาศัย
ภายในเรือนแต่เดิม แสดงตนออกมาพบปะกับผู้น้อยเช่นผม
ผมจึงต้องขอน้อมตนออกมาจาเรือนอย่างเงียบๆ

ถัดจากเรือนทับเจริญ เราต้องจ่ายค่าตั๋วเข้าชมพระราชวังสนามจันทร์เสียก่อน เป็นเงิน
สามสิบบาท ซึ่งนับว่าไม่แพงเลยสำหรับการเข้าชมสถานที่อันเป็นประวัติศาสตร์
แห่งนี้ ซึ่งในเวลาและวันที่ผมเดินอยู่นี้ มีนักท่องเที่ยวอยู่โดยประมาณสิบราย
ซึ่งถ้าคิดดูแล้วไม่น่าจะคุ้มค่ากับรายจ่ายที่ต้องเสียไปเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบุคลกร
ค่าบำรุงรักษาสถานที่และนู่นนี่ อีกจิปาถะ คิดแล้วก็อยากให้มีคนมาเที่ยวมากๆ
และทุกๆวันเพื่อเราและลูกหลาน จะได้มีโอกาสได้ชื่นชมกับประวัติศาสตร์
และสิ่งที่ดี ที่บรรพบุรุษสร้างสรรค์ไว้ให้อีกนานๆ
หาไม่แล้วเมื่อไหร่ที่สถานที่แห่งนี้ไม่
สามารถยืนอยู่ได้เพราะรายจ่าย ไม่เพียงพอกับรายรับแล้วไซร์
รุ่นลูกรุ่นหลานของเรา คงได้แต่อ่านและดูเรื่องราวต่างๆ
ได้แต่เพียงในหนังสือเท่านั้นเอง หาได้มีของจริงให้ชมไม่

อ้อลืมบอกไป ที่นี่ห้ามนำขาตั้งกล้องเข้าไปครับ เหตุผลผมไม่ทราบ ทราบแต่ว่า
ไม่สามารถนำเข้ามาได้ เท่านั้นเอง

สถานที่แรกที่ผมเดินมุ่งหน้าเข้าไปเยี่ยมชมก็คือ พระตำหนักทางฝั่งใต้อัน
มีชื่อว่าพระตำหนักมารีราชรัตนบัลลังก์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่หก โปรดเกล้าให้สร้างขั้นในช่วงปี พ.ศ. 2459
เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นด้วยไม่สักทั้งหลังจำนวนสองชั้น ทาสีแดง
ลักษณะของสถาปัตยกรรมค่อนไปทางนีโอคลาสสิค
ตามแบบอย่างทางตะวันตก ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่จัดแสดง
พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน
ซึ่งกว่าจะเดินชมได้ครบทุกห้องแลทุกกรอบรูป คาดว่า
จะใช้เวลานานพอสมควร ดังนั้นการจะมาเที่ยวชมพระราชวัง
สนามจันทร์ให้ครบถ้วนกระบวนความ
ผมว่าน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองวัน

พระตำหนักมารีราชรัตนบัลลังก์แห่งนี้ มีฉนวน(สะพาน)เชื่อมยาวข้าม
สระน้ำไปหาอีกพระตำหนักหนึ่งซึ่งอยู่ตรงข้ามกันก็คือ
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ซึ่งเป็นพระตำหนักที่มีความโดดเด่นที่สุด
ในบรรดาพระตำหนักทั้งหมดของพระราชวังสนามจันทร์แห่งนี้
ซึ่งรูปทรงของตัวอาคาร และดูจะเหมือน ปราสาท ทางยุโรปมากๆ
ซึ่งพระตำหนังแห่งนี้ สถาปนิกผู้ออกแบบคือ
หม่อเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากรและเริ่มก่อสร้าง ในปี 2451
ซึ่งเป็นการสร้างโดยนำเอาลักษณะของปราสาทฝรั่งในยุค
เรอเนซองส์ของฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาร์ฟ ทิมเบอร์ ของทางฝั่งอังกฤษ
แต่ก็มีการดัดแปลงนิดๆหน่อยๆให้เหมาะสมกับสภาพทางภูมิศาสตร์
ของไทยเรา


ด้านหน้าของพระตำนักแห่งนี้มีอนุสาวรีย์ของสุนัขทรงเลี้ยง ในรัชกาลที่หก
ที่มีชื่อว่าย่าเหล ยืนตระหง่านอยู่ราวกับว่ายังคอยเฝ้าดูผู้คนที่ผ่านไปมา
หน้าพระตำนักแห่งนี้อยู่ ย่าเหลนี้มีประวัติว่าในหลวงรัชกาลที่หก
ทรงได้มาจากคัร้นยังดำรงค์พระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช และทรง
เสด็จไปยังเรือนจำ ในจังหวัดนครปฐม

ย่าเหลเป็นสุนัขพันธ์ทาง มีขนปุกปุย สีขาวแต้มด้วยสีดำ
ชื่อย่าเหลมีที่มาจากบทละครเรื่อง "My Friend Jarlet "
ซึ่งเป็นบทละครของอังกฤษ ตัวเอกของเรื่องชื่อ "Emile jarle "
ซึ่งเป็นที่มาของชื่อย่าเหลและบทละครเรื่องนี้
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ยังทรงนำมาแปลเป็นภาษาไทยในชื่อเรื่องว่า "มิตรแท้" อีกด้วย
ย่าเหล เป็นสุนัขที่ฉลาด แสนรู้ ช่างประจบประแจง แลคอยติดตาม
ในหลวงรัชการที่หกไปทุกสถานที่
ประหนึ่งว่าเป็นทหาร ราชองค์ครักษ์ประจำพระองค์เลยที่เดียว
"...ในปีที่ 5 ที่ย่าเหลเข้ามาเป็นสุนัขหลวงในพระราชวัง วันหนึ่งผู้ไปพบย่าเหลนอนตายข้างกำแพงพระบรมมหาราชวัง ด้านวัดโพธิ์ ท่าเตียน มีรอยถูกปืนยิง ตามรูปการณ์เชื่อว่าคนที่ฆ่าย่าเหลต้องมิใช่มหาดเล็กธรรมดา เพราะผู้ที่มีปืนในสมัยนั้น จะต้องมียศฐาชั้นเจ้าคุณขึ้นไป หรืออาจเป็นชั้นเจ้านายก็เป็นได้
ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโทมนัสอย่างยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานศพแก่ย่าเหล มีหีบใส่ศพอย่างดี ปิดทองที่มุมโลง และโปรดฯให้แกะสลักรูปย่าเหลวางไว้บนโลงด้วย ทั้งยังให้มหาดเล็กแต่งตัวเป็นสัตว์นานาชนิดเข้าร่วมขบวนแห่ศพด้วย นอกจากนี้ยังมีของชำร่วยแจกในงานศพ เป็นผ้าเช็ดหน้าพิมพ์รูปย่าเหล และมีตราวชิระที่มุมด้านขวา พระราชทานเป็นของที่ระลึกแก่ทุกคนที่ไปร่วมงานด้วย...(ที่มา วิกิพีเดีย)"

เรื่องที่น่าเสียดายอย่างหนึ่งในทริปนี้คือ พระตำหนักทับขวัญ ที่เป็น
พระตำหนักทรงเรือนไทยที่ผมกะว่าต้องมาดูให้ได้นั้น ปิดซ่อมแซม ผมจึงได้แต่
เดินวน รอบๆพระตำหนัก เพื่อเก็บความงามจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว

ท่ามกลางแดดบ่ายที่ร้อนระอุ ผมเดินออกจากพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เดินตรงไปยังลาน
สักการะเทวาลัยพระคเณศร์ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าของพระที่นั่งพิมานปฐม เทวาลัยพระคเณศร์
เป็นศาลที่ภายในมี่เทวรูปของพระพิฆเณศร์เทพเจ้าแห่งศิลปะแลวิทยาการทั้งปวงตั้งอยู่
ในว่าเป็นศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวังสนามจันทร์แห่งนี้
เสียดายอย่างหนึ่ง เมื่อเดินมาถึงจุดนี้ ผมไม่ได้มีใจที่จะหยิบกล้องถ่ายรูป
ขึ้นมาชักภาพเทวาลัยไว้เลยสักภาพ ค่าที่ว่า แดดร้อนจัดมาก ที่สำคัญ
เหงื่อที่ไหลออกจากตัวผมมันไหลจนเป็กแขนเปียกมือไปหมด
หากเหงื่อไปเปื้อนกล้อง คงจะสร้างปัญกาให้ได้พอสมควร ว่าแล้วผม็ได้แต่
ประนมมือไหว้องค์พระคเณศร์ แล้วรีบเดินหลบๆไปหาที่ร่มเพื่อลดความร้อนจากในตัว

พระที่นั่งพิมานปฐม เป็นพระที่นั่งที่ถูกก่อสร้างเป็นอันดับแรก จากในบรรดา
พระที่นั่งทั้งหมดในพระราชวังสนามจันทร์ เป็นพระที่นั่งที่มีรูปลักษะเป็นแนวตึกฝรั่ง
ปกติ โดยพระที่นั่งแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็น
สถานที่ในการออกว่าราชการ และเป็นสถานที่ให้บรรดาข้าราชบริพาลและประชาชน
เข้าเฝ้า แต่ในปัจจุบันถูกดัดแปลงเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ ที่จัดแสดงสิ่งของต่าง
ในพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่หก จนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในรัชกาลปัจจุบัน
ผมเดินเข้าห้องนู้นออกห้องนี้จนเหนื่อย ดูของแปลกๆ
ที่บางชิ้นก็เคยเห็นจากในทีวี เป็นของที่พระราชอาคันตุกะ
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี
ได้ทูลเกล้าถวาย เนื่องในพระราชพิธีต่างๆ
แน่นอน ไม่มีรูปถ่ายมาแสดง เนื่องจาก
ห้ามถ่ายภาพในบริเวณภายในพระที่นั่ง ดังนั้น ก็คงได้แต่เก็บบันทึกภาพ
และความทรงจำเอาไว้แต่เพียงในใจ

ในบรรดาพระที่นั่งทั้งหมดผมชอบใจพระที่นั่งวัชรีรมยา มากที่สุด ก็คงเป็นด้วยว่าลักษณะของ
พระที่นั่งเป็นรูปทรงที่มีความเป็นไทยมากที่สุด ที่สำคัญภายในพระที่นั่ง
มีอากาศเย็นสบายมากๆ ทั้งๆที่ไม่ได้มีการเปิดแอร์ หรือ เปิดพัดลมใดๆ
นับว่าสถาปนิกแลช่างไทยในสมัยโบราณนี่เก่งมากที่สุด สามารถสร้างบ้าน
สร้างเรือนให้เข้ากับภูมิอากาศของไทยได้ แต่ลองหันมาดูปัจจุบันนี้ซิ
ทุกบ้านจะมีหลังคาแทบจะขนานราบไปกับพื้นโลกอยู่แล้ว ราวกับว่า
คนไทยสมัยใหม่ ต้องใช้หลังคาเป็นตัวรับพลังงานจากแสงอาทิตย์
ก็ไม่ปาน แล้วก็มาแก้ไขปัญหาบ้านร้อน ด้วยการเปิดแอร์แทน
ตกลงเรายิ่งโต ยิ่งโง่ จริงหรือไม่

พระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ใช้เป็นที่บรรทม ในช่วงที่เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ลักษณะของพระที่นั่งเป็น
แบบสองชั้นทรงไทย หลังคาดูคล้ายๆจะเหมือนกับ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ในพระบรมหาราชวัง เพี่ยงแต่ต่างกันที่องค์พระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นทรงไทย
แต่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นทรงฝรั่ง ภายในจัดแสดงพระแท่นบรรทม
ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีฉากไม้ขนาดใหญ่
กันเป็นบังตาอยู่(ขออภัยท่านผู้มาอ่าน หากว่ากระผมผิดพลาดเรื่องการใช้
คำราชาศัพท์)

ไม่นานนัก ผมก็ออกจากพระที่นั่งวัชรีรมยา เดินเลียบๆเคียง
ออกมาหาสถานที่ปลดเบา เนื่องจากว่าร่างกายได้รับน้ำเข้าไปมาก ทดแทนกับ
การเสียเหงื่อจากแดด ที่ร้อนระอุ โชคดีที่ผมพกขวดน้ำส่วนตัวมา
เลยประหยัดค่าน้ำได้อักโขอยู่ ตรงไหนมีก๊อกน้ำ ตรงไหนมีอ่าง
เป็นอันว่าต้องเข้าไปรองไว้ให้เต็มเสียก่อน ทุกครั้งไป


ก่อนที่ผมจะเข้าไปปลดเบา บริเวณหน้าห้องน้ามีรถจอดอยู่กลุ่มหนึ่ง
ด้วยความที่ผมเป็นคนที่สนใจเรื่องรถอยู่พอสมควร
ก็อดไม่ได้ที่จะเดินเข้าไปสำรวจตรวจตราดูว่าเป็นรถอะไร
ที่แน่ๆ ผมรู้สึกคุ้นตาเหมือนจะเคยเห็นรถกลุ่มนี้มาก่อน
และเมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ ผมก็ถึงกับตื่นเต้นมากๆ ที่ได้เห็นรถ
กลุ่มนี้จนอดไม่ได้ที่จะยกมือประนมไหว้ เปล่าครับ
ผมไม่ได้ไว้รถยนต์ที่ไหน ผมไหว้เจ้าของรถกลุ่มนี้ต่างหาก
ที่ป้ายทะเบียนเสียภาษีประจำปี แจ้งว่า
ผู้ครอบครองรถยนต์กลุ่มนี้ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ล้นเกล้าของชาวไทยนั่นเองครับ

ผมรีบคว้ากล้องมาบันทึกภาพไว้ได้หลายภาพ เนื่องจาก
ไม่ได้มีการหวงห้ามอะไร รถยนต์เหล่านี้เป็นรถยนต์พระที่นั่งของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงใช้ไปบำบัดทุกข์
บำรุงสุข ของราษฎรชาวไทยในท้องถิ่นทุรกันดาร
ที่เราเห็นกันจนชินตา ในข่าวบ่อยๆ ผมเดินดูรถเหล่านี้ไปพลาง
ก็นึกในใจไปพลาง และในหัวก็มีภาพพระองค์ท่าน
เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเหล่านี้
ไปตามที่ต่างๆ ครับ น้ำตามันพลอยจะไหลครับ
ผมต้องรีบฮึด ด้วยการสูดลมหายใจเข้าแรงๆ
สกัดอาการซาบซึ้งใจไว้ก่อนครับ
จากนั้นก็เดินดูรถยนต์พระที่นั่งใกล้ๆ เข้าไปดูตรงนู้นตรงนี้จนกระทั่งเจ้าหน้าที่
มาแจ้งเรื่องเวลาปิดทำการของพระราชวังสนามจันทร์
ผมจึงต้องรีบเก็บภาพอีกสองสามภาพ ก่อนจะเดินออกจากพระราชวัง
สนามจันทร์ ก่อนที่แสงลำสุดท้ายของท้องฟ้าจะลดหายไป


เมื่อแสงของพระอาทิตย์ยังคมจับๆอยู่แถวขอบฟ้า ผมก็รีบบอกลา
พระราชวังสนามจันทร์ เร่งผีเท้าเดินตรงไปยังองค์พระปฐมเจดีย์อีกครั้ง
และขึ้นรถที่เขียนด้านข้างว่า อ้อมน้อย หรือ อ้อมใหญ่ คันที่จอดชลอๆ
อยู่ข้างๆตลาดแถวองค์พระ และจากนั้น ก็ไปต่อที่สาย 84 ซึ่งเป็นรถเมล์
ที่วิ่งตรงเข้าสู่กรุงเทพ
ในระหว่างช่วงหนึ่งที่รถวิ่งผ่านโรงเรียนเก่า
ผมมองเห็นภาพเด็กชายคนหนึ่ง กำลังนั่งร้องไห้ขี้มูกย้อย
เกาะรั้วโรงเรียนหาแม่และหาทางกลับบ้านอยู่
ภาพนั้นเป็นเครื่องย้ำเตือนถึงอดีตอันแสนเศร้าของผม
และจากนั้นภาพอื่นก็ผุดพรายขึ้นมาในความทรงจำ
บางเรื่องก็สนุก บางเรื่องก็ไม่สนุก ตามประสาของเด็กๆ
ผมแอบยิ้มในใจและ นึกขำตัวเองในวัยเด็กจนอยากจะลง
ไปบอกกับตัวเองในวัยเด็กเสียเหลือเกินว่า เอ็งน่ะ ต้องอยู่ร้องไห้
ที่ยอดแหลมนี่จนครบสามปีนั่นและ หนีไปไหนไม่ได้หรอกน้องชาย
จากนั้นผมก็ผลอยหลับไปในช่วงแค่ข้ามสะพานโพธ์แก้วสามพราน
ด้วยความเหนื่อยอ่อน
ลาแล้วนครปฐม แต่ไม่ลาก่อน
วันหน้า ผมจะกับมาค้นหาความทรงจำที่นี่อีกอย่างแน่นอน
แต่วันนี้เหนื่อยแล้วขอหลับก่อนดีกว่า........



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คุณเชื่อเรื่อง พรหมลิขิตไหม....

ดนตรีเศร้าหมองแห่งการบำบัด