เริ่มเรื่อง ด้วยขาสองข้างตอน...จับรถไฟ ไปอัมพวา



วันหนึ่งในฤดูอะไรสักฤดู จำไม่ได้เพราะมันเป็นเวลาที่ผ่านมาแล้วชนิดที่เรียกว่า
นานโขสมองของคนเรานี่ก็แปลก กลับไปจดจำอะไรที่ไม่น่าจะจดจำเอาไว้ตั้งมากมาย
ทั้งๆที่ไอ้ที่จำได้นั่น มันควรจะเป็นสิ่งที่น่าจะไม่ควรจำได้มากกว่า
และอีกนั่นแหละไอ้ความทรงจำที่ควรจะจำสิ่งที่น่าจดจำ
สมองมันกลับไม่สั้งให้จำสิ่งที่ควรจำนั้นไว้ได้ เออหนอ คนเรา...
แต่ก็นะ บางทีการจำอะไรได้ดีๆมากๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะกลายเป็นสิ่งดีเมื่อไหร่
ก็เช่นหากว่าเราจำเรื่องราวในอดีตดีๆได้ทั้งหมด เวลาเราเจอเพื่อนเก่า
คงไม่มีอะไรให้มานั่งรำลึกกันละคราวนี้ ...
"มึงจำวันที่ไปเขาชนไก่ได้ไหม...."
"อืมกูจำได้"
"มึงจำได้ไหม มึงเอาแก้วปาหน้ากู กูโกรธแทบตายห่า..."
"ตอนไหนวะงง จำไม่ได้ว่ะ"
"ตอนนั้นไง...ที่...."

นั่นไง หากมีใครสักคนจำเรื่องอะไรในอดีตไม่ได้ แน่นอน
มันจะเริ่มมีการช่วยกันค้นหา ช่วงเวลาดีๆ ที่ขาดหายไป
และนั่นละครับ ความสนุกสนานมันจะมาจากจุดนั้น...เช่นกัน
วันนั้นผมจึงจำไม่ได้ว่าเวลานั้น วันนี้ น่ะมันวันไหนฤดูไหน
ใครจะไปจำได้รู้แต่ว่าขามันอยากไป สมองมันล้า
หัวใจมันเรียกร้องว่า ไปๆไปไหนก็ได้ ขอให้ได้ไปอ่ะ ไปก็ไป
ว่าแต่ไปไหนได้เล่า ชั่วงนั้นตังก็ไม่ค่อยจะมี (ช่วงนี้ก็ไม่ค่อยมี ไม่ใช่ว่าจะมี)
น้ำมันรถก็แสนแพง รัฐบาลท่านมีนโยบายดัดหลังคนไทยนิสัยมือเติบ
โดยการขึ้นราคาน้ำมันให้สูงสุดขีดไว้ก่อน โดยท่านว่าคนได้จะได้รู้จักเสียที
ว่าชาวบ้โลกเขาจ่ายค่าน้ำมันแพงกว่าเรามากแค่ไหน เราสบายกันมามากแล้ว
โดยจ่ายค่าน้ำมันถูกๆ ถึงเวลาประหยัดกันเสียที
ว่าแล้วท่านก็โขกราคาน้ำมันเอาเสียประชาชน จุก เสียด กันไปถ้วนหน้า

เอาละ ไหนๆก็ไม่คิดจะไปทางรถยนต์แล้ว ไปทางรถไฟดูดีกว่า น่าจะดี
ว่าแต่รถไฟมันไปไหนได้บ้างเล่า ช่วงนี้และช่วงที่ผ่านมา
รัฐบาลท่านประกาศให้ประชาชนขึ้นรถสาธารณะเช่นรถเมล์และรถไฟฟรี
ก็เอา สนองความต้องการของหลวงท่านเสียหน่อย ไปรถไฟฟรี อืมรถไฟฟรีก็มี
มหาชัยสิใกล้ที่สุด ได้การ ไปอัมพวาดีกว่าลองดู

เช้าวันต่อมา ก็จำไม่ได้อีกนั่นแลว่าวันไหน ออกจากเคหะสถานบ้านช่อง
เข้าเวลาเก้าโมงกว่าๆด้วยสองขา ใช้เวลาเดินจากบ้านไปปากซอยราวๆสิบห้านาที
เออหนอ มอเตอร์ไซด์รับจ้างก็มีถม ไม่นั่งเดินให้มันเมื่อยขาซะอย่างนั้นเอง
สิบห้านาทีผ่านมาก็ออกทะลุมาปากซอย ถึงเวลาที่ยากลำบากที่สุดแล้วกระมังในชีวิต
สะพานลอย สะพานลอยข้ามถนนพระรามสองนี่ไม่รู้ว่ามี guinness book of world records
มาจดบันทึกสถิติไว้หรือยังว่า เป็นสะพานลอยที่มีความเป็นที่สุดในโลกมากอยู่หลายอย่าง
เช่น
ทางขึ้นสกปรกมาที่สุดในโลก ที่นี่
ทางขึ้นชันที่สุดในโลก ที่นี่
ขอทานจำนวนต่อตารางสะพานเมตร(สูตรไหนเนี่ย) มากที่สุดในโลก ที่นี่
ระยะทางข้ามยาวมากที่สุดในโลก ที่นี่
ระยะทางข้ามที่ร้อนที่สุดในโลก ที่นี่
มีการติด(คนติด)ของคนมากที่สุดในโลก ที่นี่
วิวสวยที่สุดในโลก ที่นี่
อืม อย่างน้อยก็มีข้อดี อีตรงวิวสวยนะ
ถึงอีกฝั่งก็จับรถมอร์เตอร์ไซด์คิวรับจ้างเข้าไปที่สถานีรถไฟสิบบาทแรกถูกจ่ายเพื่อการนี้

สถานีรถไฟที่ขึ้นรถไฟไปอัมพวานี่อยู่ในการเคหะพระรามสอง
ชื่อก็เป็นชื่อตามสถานที่ที่ตั้งอยู่เลยว่าสถานีการเคหะ
รถไฟมาเข้าชานชาลาประมาณเก้าโมงห้าสิบ...ขึ้นรถไฟไปได้ปุ๊บ
กลิ่นเหม็นตุๆคาวๆที่คุ้นเคยของรถไฟสายมหาชัย
เข้ามาปะทะจมูกปุ๊บ เราก็รู้ทันทีว่า
รถไฟไทยสายมหาชัยวงเวียนใหญ่เส้นนี้ ยังไม่ก้าวหน้าไปไหน
สิบกว่าปีที่ไม่ได้ขึ้นรถไฟสายนี้ มันยังคงความเก่าและคลาสสิคได้ดี
แม้กระทั่งกลิ่นยังเป็นกลิ่นเฉพาะตัวไม่เคยเปลี่ยนแปลง เออ ว่าแต่
ชักจะเริ่มสงสัยอยู่เหมือนกันว่า รถไฟสายอื่นมีกลิ่นเฉพาะเส้นทางหรือเปล่า
ว่างๆน่าจะไปลองดมดู
รถไฟเคลื่อนตัวออกจากชานชาลาอย่างช้าๆ เสียงกะฉึกกะฉัก
และเสียงล้อรถไฟบดไปกับรางฟังแล้วช่างน่าตื่นเต้นและความสุขนัก
นึกถึงตอนสมัยนั่งรถไฟจากอยุธยาไปพิษณุโลก กับพ่อสอคน
ระหว่างทางพ่อไม่รู้ว่าจะคุยอะไรกับลูก พ่อเลยแต่นิทานเกี่ยวกับภูเขาลูกหนึ่ง
ที่อยู่ราวๆสถานีชุมแสง พ่อเรียกมันว่า หุบเขาปีศาจแมวดำ
พ่อบอกว่าในหุบเขานี้มีปีศาจแมวดำคอยจับเด็กๆไปกิน
พอมาเดี๋ยวนี้นึกถึงแล้วก็ยังอดขำนิทานเรื่องนี้อยู่เสมอ เวลาเดินทางผ่านไปแถวๆนครสวรรค์
แน่นอน เรานึกไปถึง พ่อ เจ้าแห่งหุบเขาปีศาจแมวดำ
บรรยากาศบนรถไฟตอนนี้น่าเอนหลังยิ่งนัก ลมเย็นๆโชยมาปะทะใบหน้า
ผู้คนบนรถบางตา ผมอดไม่ได้ที่จะยื่นหน้าออกไปสูดอากาศนอกหน้าต่าง
เหมือนที่เคยทำตอนสมัยเด็กๆ แต่ก็ต้องระวังนิดหน่อย เพราะสมัยเด็กๆมีพ่อคอยดูต้นทางให้
เวลามีเสา มีสะพาน จะผ่านมา ตอนนี้คงต้องระมัดระวังเอาเอง
คำแนะนำในการเดินทาง แน่นอน วันสบายๆอย่างนี้ ปิดโทรศัพท์สักหนึ่งวัน
สั่งงานสั่งการให้เรียบร้อย มีหนังสือเล่มเล็กๆสักเล่มหนึ่งอ่านฆ่าเวลา
แต่เอาจริงๆแล้วหนังสือก็ไม่ได้อ่าน เพรามัวแต่ซึมซับกับบรรยากาศ ข้างทางรถไฟที่ผ่านไปมันช่างสวยงามและสนุกสนานเกินกว่าจะจับเจ่าอยู่กับในหนังสือได้
รถไฟใช้เวลาเดินทางราวๆหนึ่งชั่วโมง ก็เข้าเทียบชานชาลาที่สถานีมหาชัย
กลิ่นมหาชัยนี่ถ้าใครไม่ชินก็น่าจะเรียกว่าเหม็นมากเห็นจะได้ กลิ่นของที่นี่แยกออกได้หลายอย่าง
ในสูดอากาศเดียวเราจะได้กลิ่นต่อไปนี้ กลิ่นทะเล กลิ่นอาหารทะเล
กลิ่นสัตว์ทะเลที่เราบริโภค พวกปลา ปลาหมึก หอย กลิ่นสัตว์ทะเลที่น่าจะเน่าเสีย
และแน่นอนกลิ่นเกลือเค็มๆ แต่ก็อย่างว่า คงเป็นเพราะความชินที่มีบ้านอยู่ติดกับสมุทรสาคร
มีโรงเรียนอยู่กรุงเทพครึ่งหนึ่งสมุทรสาครครึ่งหนึ่ง อาหารทะเลถ้าอยากกินสดๆใหม่ๆก็ต้องไปสมุทรสาคร
จึงมีความคุ้นชินกับกลิ่นสมุทรสาครหรือมหาชัยไปโดยปริยาย
รถไฟเข้าเทียบชานชาลาอีกครั้งที่ปลายทางสถานีมหาชัย
เป็นจุดสิ้นสุดของสายรถไฟวงเวียนใหญ่ - มหาชัย
แม่ค้าแม่ขาย กุลีกุจอขนของที่ซื้อจากกรุงเทพลงลงจากรถไฟด้วยความรวดเร็ว
ส่วนแม่ค้าอีกกลุ่มหนึ่งก็ขนของทะเลที่จับได้จากอ่าวไปส่งไปขายกรุงเทพ
ขึ้นรถไฟอย่างเร่งรีบ คงเป็นเพราะเกรงว่ารถไฟจะจอดเพียงไม่นาน
ก็ต้องวิ่งกลับเข้าไปกรุงเทพอีกคราว เป็นวัฎจักรวนเวียนไปอย่างนี้ตลอดในหนึ่งวัน
ออกจากชานชาลามา ได้ เราก็เดินเข้ามาในตลาดมหาชัย เป็นตลาดที่ขายอาหารทะเลเสียเป็นส่วนใหญ่
สิ่งหนึ่งที่อยากให้คนที่มาเที่ยวที่นี่ได้สังเกตกันก็คือ
คนขายของประจำร้านที่เป็นผู้ชาย จะนุ่งผ้าถุงและเคี้ยวหมาก
ซึ่งนั่นก็หมายถึงเขาเหล่านั้นเป็นแรงงานต่างชาติสัญชาติ พม่า ที่เลือกที่จะมาอาศัยค้าขายแรงงานในแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ของเรา แทนที่จะยอมรับสภาพความกดขี่ข่มแหง
และไฟสงครามระหว่าคนในชาติที่แบ่งแยกกันไปได้หลายเผ่าพันธุ์ ที่คุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา
คนเหล่านี้จึงจำเป็นต้องหนี และประเทศที่เขาเลือกที่จะหนีมาพึ่งใบบุญก็คือ
ประเทศไทยของผมนั่นเอง พูดไปแล้วก็รู้สึกดีใจขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูกว่าเออนะ ประเทศของเรานี่ นอกจากจะเป็นที่หาเลี้ยงให้กับคนภายในประเทศได้แล้ว ยังจะเหลือเพียงพอที่จะส่งเสียให้กับคนนอกได้พึ่งพาอีก
มันน่าภาคภูมิใจเสียนี่กระไรที่เกิดมาเป็น คนไทย คนบนแผ่นดินของพระเจ้าแผ่นดิน
ผมรักเมืองไทยครับ

ในตลาดมหาชัย ผมก็เดินลัดเลาะมาชมตลาดเรื่อยๆ อาหารทะเลของที่นี่ดูแล้ว
อยากซื้อกลับไปทำอาหารยิ่งนัก ใครที่เดินตลาดบ่อยๆจะรู้เลยว่าของที่นี่ สด และ ดีจริงๆ
แถมราคาถูกกว่าในซุปเปอร์มาร์เก็ตครึ่งต่อครึง แน่นอนครับ
ตรงนี้ไม่มีค่าขนส่ง ไม่ผ่านยิี่ปั๊ว ซาปั๊วใดๆ เรียกว่าลงจากเรือก็ขึ้นแผงทันที
ฉะนั้น ถ้าอยากจะรับประทานอาหารทะเลสดๆ อร่อยๆ ต้องที่มหาชัยเท่านั้นครับ
จากท่ารถไฟ ใช้เวลาเดินไม่เกินสิบนาที ก็มาถึงท่าเรือข้ามฟาก ที่เรียกกันว่าท่าเกียงง้วน
ปัจจุบันไม่รู้ว่ายังเรียกว่าท่าเกียงง้วนอยู่หรือเปล่าเพราะสมัยก่อนบนชั้นสองของท่าเรือข้ามฟาก
เคยมีร้านอาหารตั้งอยู่ที่นี่ชื่อว่าร้านเกียงง้วน เป็นร้านอาหารทะเลที่อร่อยที่สุดในย่านนี้
ปัจจุบันเห็นว่าไปเปิดดำเนินการอยู่บนฝั่งและขยายออกไปอีกหลายสาขา
ส่วนคุณภาพความอร่อยและราคา ก็ของบอกว่าต้องไปลองดูกันเอาเอง
แล้วจะรู้ว่า อร่อยแบบเกียงง้วน เป็นอย่างไร
จากตรงนี้เงินถูกจ่าออกไปเป็นค่าเรือข้ามฟากอีกสามบาท

เจ้าหนอนทะเลสีเขียวลำนี้ พาหลายชีวิตรวมทั้งผม ค่อยๆแล่นอย่างเอื่อยๆ
ข้ามไปยังอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ แล้วก็ขึ้นฝั่งที่ ท่าฉลอม
ท่าฉลอมนี่เป็นอันว่าใครที่เป็นนักฟังเพลงลูกกรุง รุ่นราวคราวเดียวกันกับพ่อหรือแม่ของผม
น่าจะเคยได้ยินเพลงที่ร้องว่า "ท่าฉลอม กับมหาชัย คิดทำไมว่าไกล เชื่อมความรักไว้ดีกว่า..."
เพลงนี้ก็สื่อให้เห็นว่าความรักของหนุ่มท่าฉลอม กับสาวมหาชัยนี้
ไม่สามารถจะกั้นไว้ด้วยความกว้างของแม่น้ำ เพราะแค่ข้ามเรือแป็บเดียว
จ่ายสตางค์สามบาท เราก็จะสามารถข้ามมารักกันได้ดั่งเพลงว่าไว้

ออกจากท่าเรือ ใครที่คิดว่าตัวเองเดินไม่เก่ง ขอแนะนำให้นั่งมอเตอร์ไซด์รับจ้าง
เพราะถ้าเดินไม่เก่งแล้วนั้น จากท่าเรือท่าฉลอมมาที่ท่ารถไฟ
เล่นเอาเสียหอบได้เหมือนกัน เนื่องจากระยะทางค่อนข้างจะไกล
ด้วยความที่ไม่รู้ว่าสถานีรถไฟ ที่จะไปขึ้นนั้นอยู่ตรงไหน
ก็เลยใช้ถามคุณลุงที่ขายสลากกินแบ่งอยู่ตรงทางออกท่าเรือ
คุณลุงท่านก็ชี้ไม้ชี้มือบอกทางไปให้เสร็จสรรพ
และที่แน่ๆคุณลุงท่านกำชับมาเลยว่า เดินไปก็ได้ลูก ไม่ไกล ไม่ไกล
ได้ยินดังนั้น เราก็ดีใจว่าเออ เดินไปได้นะ ลองเดินดูแล้วกัน ครับ ได้หอบซี่โครงบานครับ

แล้วเมื่อเดินจากท่าเรือมา สักพักหนึ่งจะเจอป้ายนี่ซึ่งนั่นหมายถึง เข้าเขต สถานีรถไฟบ้านแหลมแล้ว
ให้กลั้นใจเดินฝ่าดงนักเลงสามสี่ตัวที่นอนหมอบแล้วชำเลืองตามองดูเราเดินผ่านไป
เหมือนกับจะหาเรื่อง ผมเองเหลือบไปปะเข้ากับสายตาอันไม่เป็นมิตรเท่าไหร่ของพี่ๆนักเลงเหล่านี้แล้ว
เป็นอันต้องรีบๆเดินผ่านๆไป อย่างรวดเร็วด้วยเกรงว่าเดี๋ยวจะโดน "หมาหมู่" แล้วจะไม่คุ้ม

จากดงนักเลงนับก้าวได้ไม่น่าเกินห้าสิบก้าว เราก็จะเข้าเขต สถานีรถไฟบ้านแหลมแล้วครับ
สถานีรถไฟบ้านแหลมเป็นสถานีรถไฟขาดเล็ก ซึ่งดูแล้วได้บรรยากาศของความเป็นสถานีรถไฟต่างจังหวัด หลังคาสถานีเก่าๆ ร้านรวงที่เปิดขายของกันอย่างเงียบๆ
มีผู้คนนั่งรอรถไฟและพูดคุยกันเบาๆ ผมหย่อนก้นลงนั่งได้ไม่นานก็พาลจะหลับ
เพราะลมเย็นที่พัดมาเรื่อยๆ ประกอบกับความเงียบเหงาของสถานี
ก็พาให้เกิดอาการเคลิ้มไปได้ทีเดียว




"เม้งๆ เม้ง...." (ผมไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นเสียงได้)
เสียงระฆังจากนายสถานีกังวาน ขึ้นสามครั้งเหมือนแกล้งให้ผมตื่น
จากความเคลิบเคลิ้มของบรรยากาศ และเสียงนั้นหมายความว่า
รถไฟที่จะพาเราเดินทางออกจากสถานีบ้านแหลม ไปยังสถานีปลายทางแม่กลอง
กำลังจะเข้าเทียบชานชาลาแล้ว อ้อ ลืมบอกไปครับ ค่ารถไฟไม่ต้องจ่าย
เพราะรัฐท่านยังสนับสนุนค่าโดยสารให้กับประชาชนอยู่
ดังนั้นขึ้นรถไฟไปได้เลยไม่ต้องตีตั๋วใดๆทั้งสิ้น....
"ท่านผู้โดยสารโปรทราบๆ รถไฟที่กำลังจะเคลื่อเข้าที่ชานชาลาของสถานีบ้านแหลมนี้
เป็นขบวนรถไฟหมายเลข1210 ออกเดินทางจากสถานีบ้านแหลม
ปลายทางสถานีแม่กลอง ท่านผู้โดยสารที่มีความประสงค์จะเดินทางไปยังจังหวัดสมุทรสงคราม
โปรดเตรียมสิ่งของและสัมภาระของท่านให้เรียบร้อย ขอบพระคุณมากครับ...."

สิ้นเสียงประกาศของนายสถานีไม่นาน รถไฟเก่าอย่างที่เราเห็นได้ทั่วๆไป
ก็ค่อยๆคลานเข้ามาจอดเที่ยบชานชาลาอย่างช้าๆ
พอขึ้นรถไฟได้ผมก็จัดการจับจองที่นั่งที่ฝั่งซ้ายของโบกี้
จริงๆถ้าเป็นวันที่มีแดดออกปกติ ที่นั่งฝั่งนี้ จะเป็นที่นั่งที่ถูกแดดอย่างจังๆ
และน่าจะร้อนมากในช่วงเช้า แต่วันที่ผมเดินทาง เป็นวันที่แดดหุบ
ฟ้าหลัว เหมือนฝนจะตกดังนั้น การนั่งฝั่งใดฝั่งหนึ่งของรถไฟ
จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาในการเดินทางเที่ยวนี้
ไม่เกินสิบห้านาทีถึงราวๆยี่สิบนาที รถไฟขวนนี้ก็ค่อยออกตัวจากชานชาลาอย่างช้าๆ
เหมือนตอนขาเข้ามา และค่อยๆเร่งความเร็วขึ้นเรื่อยๆจนเต็มฝีจักร
ผมอดไม่ได้ที่จะทำเหมือนสมัยตอนที่เป็นเด็กๆ
คือชะโงกหน้าออกไปนอกหน้าต่างรถไฟ เพื่อมองดูวิวสวยๆสองข้างทาง
ชานชาลาสถานีบ้านแหลมค่อยเล็กลงๆ จนกระทั่งหายลับพ้นโค้งไป
สองข้างทางของรางรถไฟ ที่ผ่านไปเราจะเห็น ทุ่งนา นาเกลือ นาข้าว
และป่าชายเลนสลับไปสลับมา
บางช่วงเหมือนกับว่ารถไฟวิ่งอยู่ในป่ารก เพราะสองข้างทาง
จะเต็มไปด้วยต้นไม้รกทึบ มองไม่เห็นอะไรอื่นๆ
บางช่วงที่ผ่านไปยังผืนนาเกลือ เราก็จะเห็นกังหันวิดน้ำ หมุนไปตามแรงลม
เพื่อวิดเอาน้ำทะเลเข้านา ช่วงที่ผ่านป่าจาก จะเห็นชาวสวนจาก กำลังตัดลูกจาก
หรือถางแปลงลูกจากให้โล่ง ในว่ากำลังเตรียมที่พื้นที่ใต้ต้น
ให้ลูกจากมีที่เติบโตจากนั้นพอโตได้ที่ ก็หักร้างถางพงลุยโคลนเข้าไปตัด
เพื่อให้เราได้เอามากินกับไอติมเย็นๆนั่นเอง


ในช่วงเวลาที่รถไฟวิ่งจากสถานนีบ้านแหลมจน ผมบันทึกภาพระหว่างทางไปตลอด
ด้วยกล้องเก่าๆที่ใช้มากว่าแปดปี มันยังคงเป็นกล้องที่ชาวกล้องเรียกขานว่า
กล้องปัญญาอ่อน แต่สำหรับผม กล้องประเภทนี้มันก็เป็นกล้องทีดีกล้องหนึ่ง
ค่าที่เราไม่ต้องไปปรับแต่งอะไรมันมากมาย หามุมภาพเหมาะๆ
แล้วกดลั่นชัตเตอร์เลย ภาพที่ออกมาก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่อะไรมาก
เอาแค่พอดูเข้าใจ สื่อสารกับคนดูได้
ผมว่ามันก็บรรลุจุดประสงค์และหน้าที่ของมันอย่างครบร้อยเปอร์เซนต์แล้วละครับ

ช่วงสุดท้ายของการเดินทางด้วยรถไฟสายนี้
มีเรื่องน่าตื่นเต้นและสนุกสนานอยู่เรื่องหนึ่ง
จะว่าไปก็เป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์สำหรับผมและคนที่เคยแต่อ่าน
เรื่องสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ หรือได้ยินแต่เรื่องเล่ามาจากหนังสือ
สถานที่ว่านี้คือตลาดหุบร่ม จริงๆแล้ว จะเรียกตลาดหุบร่มว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
ก็ไม่น่าจะใช่เสียทีเดียว เพราะจริงๆสำหรับชาวแม่กลองแล้ว
สถานที่แห่งนี้ก็น่าจะเป็นแค่ตลาดสด ที่ชาวบ้านมาจับจ่ายซื้อของกัน
ในชีวิตประจำวันปกติ เพียงแต่ความมหัศจรรย์ของตลาดแห่งนี้มีอยู่ว่า
มันเป็นตลาดที่ตั้งขายกันอยู่บนรางรถไฟ และเมื่อรถไฟมา
แม่ค้าแม่ขายหรือแม่แต่ชาวบ้านที่มาจับจ่าย
ก็จะต้องรีบๆพาตัวเองออกจากราง รวมถึงหุบร่มที่กางเอาไว้
ครอบรางรถไฟออก เพื่อให้รถไฟผ่านไปได้ตามปกติ นับเป็น
ความตื่นเต้นที่ได้มาเห็นของจริงด้วยตาตนเองในวันนี้



หนึงชั่วโมงของการเดินทาง รถไฟก็มาหยุดที่ปลายทางสถานีแม่กลอง
เมื่อลงจากรถ ผมก็ไม่รีรอที่จะเดินไปถามแม่ค้าขายของแถวๆนั้นทันทีว่า
จากแม่กลอง จะเดินทางไปอัมพวาได้อย่างไร คุณป้าแม่ค้าผู้เอื้ออารีย์
ก็ให้คำตอบคล้ายๆกับคุณลุงว่าให้เดินไปขึ้นรถ ที่ท่ารถสองแถว
ในตลาดซึ่งไม่ห่างจากสถานีมากนัก ซึ่งคราวนี้ก็จริงๆของคุณป้า
ผมเดินจากสถานีแม่กลอง ไปยังท่ารถสองแถวไปอัมพวา
ใช้เวลาแค่ห้านาที ไม่ได้เดินเสียจนหอบตัวโยน
เหมือนคราวเดินจากท่าเรือมหาชัยมาที่ท่ารถไฟบ้านแหลม
และในระหว่างทีรถสองแถวออกจาท่าและเดินทางไปอัมพวา
ผมฮัมเพลงนี้ในใจไปตลอดการเดินทาง
สิ้นแสงดาวดุเหว่าเร่าร้อง
จากสุมทุมลุ่มน้ำแม่กลอง
พี่จำจากน้องคนงาม
แว่วหวูดรถไฟ
พี่แสนอาลัยสมุทรสงคราม
คงละเมอเพ้อพร่ำ
คิดถึงคนงามที่อยู่แม่กลอง
ราชการทหารเรียกใช้
ลูกน้ำเค็มโอ้ทัพเรือไทย
ฝึกเตรียมเอาไว้ทุกกอง
พี่ต้องขอลาจากแล้วแก้วตาลาถิ่นแม่กลอง
คงหวนมาหาน้อง
คนสวยแม่กลองคอยพี่กลับมา
เมื่อสงกรานต์งานวัดบ้านแหลม
เคยเที่ยวชมกับโฉมแฉล้ม
เมื่อคืนข้างแรมเมษา
สรงน้ำร่วมน้อง
ปิดทองพระปฏิมา
อธิษฐานรักอยู่คู่ฟ้าหวังเกิดมาร่วมใจ
ป้อมพระจุลไกลบ้านห่างน้อง
เมื่อฝนมาฟากฟ้าคะนอง
ได้ยินถึงน้องหรือไม่
พี่ส่งสัญญาฝากฟ้าครวญมาจากห้วงหัวใจ
คือเสียงครวญไห้
ทหารเรือไทยยังห่วงแม่กลอง

สิบห้านาทีกับค่ารถสิบบาทบนรถสองแถวเก่าๆ ทีวิ่งอย่างเนิบๆ ผ่าน
ตัวเมืองสมุทรสงคราม ลัดเลาะออกไปเรื่อยๆ ผ่านวัด
ผ่านสะพานและข้ามแม่น้ำสองสามสะพาน
จนกระทั่งมาถึงอัมพวา จุดหมายปลายทางของการเดินทางครั้งนี้
แน่นอนครับ เมื่อมาถึงอัมพวา สิ่งแรกที่พึงจะกระทำก็คือ เข้าไปสักการะ
พระบรมราชานุสาวรีย์ในสมเด็จพระพุธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่สอง
ที่ประดิษฐานอยู่ตรงบริเวณด้านหน้าของวัดอัมพวันเจติยาราม
เสียก่อนเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ตัว ก่อนที่จะไปเดินชมสถานที่อื่นๆ

และจากวัดอัมพวันเจติยารามไม่ไกลนัก เดินแค่ข้ามที่จอดรถร้อนๆ
ผมก็ก้าวเข้าสู่เขตตลาดน้ำอัมพวา ผมเคยมาอัมพวาครั้งหนึ่งแล้ว
เมื่อไม่นานก่อนหน้านี้ ซึ่งการมาครั้งนั้น เป็นการมาอัมพวา
ครั้งแรกของผมซึ่ง ไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่เนื่องจากถ้ามาที่นี่
ในวันที่เป็นวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์แล้ว เราจะพบกับจำนวนคนที่
มากมายมหาศาล จนเกินกว่าตัวอัมพวาเองจะรับมือไหว
ซึ่งมันจะเกิดอาการแน่น ร้อน อึดอัด รำคาญมากๆ สำหรับการเดินชมตลาด
ที่มีขนาดเล็กแต่ต้องเดินเบียดเสียดกับคนอื่นๆ จนติดขัด
และนั่นก็เป็นที่มาของการเดินทางมาดูอัมพวาในช่วงเวลาที่
ไม่มีใครเขามา และไม่มีกิจกรรมใดๆ
ซึ่งผมว่าผมชอบประการหลังนี่มากกว่า

การเดินชมอัมพวาเที่ยวนี้ของผมเป็นการเดินไปเรื่อยๆ ไม่รีบ
ไม่มีการเบียดเสียด เรียกว่าเหมือนกับปิดอัมพวาให้ผมเดินอยู่คนเดียว
เสียด้วยซ้ำ บรรยากาศตลาดริมน้ำที่ไม่มีกิจกรรมนี้ช่างเงียบสงบ
ผมหยุดเดินและนั่งพัก เอาเท้าแช่ในคลองเล่นอยู่เป็นนานสองนาน
จนพอใจ ผมจึงลุกขึ้นเดินต่อไปยังสถานที่อื่น

สถานที่ต่อไปที่ต้องเข้าไปดูก็คือ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2)
เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณ
ที่ได้พระราชทาน ศิลปวัฒนธรรมอันงดงามไว้ เป็นมรดกแก่ชาติ ซึ่งภายใน
อุทยานประกอบไปด้วยหลายสิ่งที่น่าสนใจ เช่นเรือนไทยขนาดใหญ่ห้าหลัง
ซึ่งจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยโบราณ
สวน พรรณไม้ชนิดต่างๆที่มีชื่ออยู่ในวรรณคดีไทย ทั้งต้นไม้ขนาดเล็ก
และขนาดใหญ่ ร่มรื่นอยู่มากมาย อีกทั้งยังมีหุ่นปั้นตัวละครเช่น
พระสังข์(เจ้าเงาะ)ซื่งยืนยิ้มเผล่อยู่ในสวนในกิริยา
ที่กำลังหยอกเย้าเล่นกับบรรดาเด็กๆ

หรือจะเป็นหุ่นปั้นพระยาชาละวัน จรเข้ใหญ่ซึ่งตามรูปการณ์แล้วไซร์
กำลังเพลี่ยงพล้ำให้แก่พ่อไกรทอง หนุ่มน้อยที่อาสาเจ้าเมืองพิจิตร
มาปราบเจ้าจรเข้ตัวนี้ ผมเดินชมหุ่นไปพลางๆ ไม่นานก็เดินมายังริมน้ำ
บริเวณริมแม่น้ำแม่กลองนี้มีก๋วยเตี๋ยวเรือจอดขายอยู่เจ้าหนึ่ง
แน่นอน อาหารกลางวันยามนี้คงหนีไม่พ้นก๋วยเตียวเรือเป็นแน่แท้
ครับ สองชามตามความเหมาะสม...

หลังจากอิ่มท้องแล้ว ขาก้พอมีแรงให้เดินต่อชมนกชมไม้ถ่ายภาพ
ไปอีกสักหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ จึงได้เวลาที่ผมจะเดินทางกลับบ้าน
จากอัมพวา ก็ขึ้นรถสองแถวที่เดิมตรงบริเวณที่ลงจากรถในตอนแรก
ในเวลาสิบห้านาทีเท่าเดิม รถสองแถวก้พาผมกลับมายัง
สถานีรถไฟแม่กลองดังเดิม ปัญหาของตอนนี้ก็คือกว่าทีรถไฟ
คันต่อไปจะมาก็ยังมีเวลาเหลืออีกเกือบหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
ดังนั้นสถานที่ท่องเที่ยวที่ใกล้ที่สุดที่ไม่ต้องเดินไกลมากก็คือ
ตลาดหุบร่ม เสียดาย ตอนนี้เจ้ากล้องกระป๋องกระแป๋งของผม
เริ่มที่จะหมดแบตเตอรี่ ผมจึงสงวนมันไว้เพื่อถ่ายรูปที่คิดว่า
น่าถ่าย ก่อนที่มันจะหมดพลังไป หลังจากเดินสำรวจตลาด
หุบร่มแล้ว ไม่ช้ารถไฟก็วิ่งเข้าสู่ชานชาลา แน่นอน
ผมก็ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์
ความตื่นเต้นของการ "หุบร่ม หนีรถไฟ" ด้วย
เหมือนกันกับแม่ค้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ตื่นเต้นมากๆ
รถไฟวิ่งผ่านหน้าของเราไปอย่างช้าๆ ในระยะห่างที่ไม่ถึงหนึ่งเมตร
ผมสอบถามแม่ค้าแถวๆนั้นได้ความว่า วันหนึ่งๆ
แม่ค้าจะหุบร่มหนีรถไฟหกครั้ง
ส่วนอุบัติเหตุไม่เคยมี เพราะทางสถานีกับทางแม่ค้าได้ตกลงเวลา
และมีการส่งสัญญาณกันล่วงหน้าก่อนที่รถไฟจะเข้าสู่ชานชาลาแล้ว
จึงไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเลยแม้สักครั้งเดียว

เมือใกล้จะสิ้นสุดวัน ผมก็เดินทางกลับออกจากแม่กลอง สมุทรสงคราม
ด้วยความสุขใจและสนุกสนานกับการเดินทางเป็นอย่างมาก
ผมอดไม่ได้ที่จะยื่นหัวออกไปนอกหน้าต่างรถไฟ
เพื่อสูดเอาอากาศที่สดชื่นของสมุทรสงครามและซึมซับเอาความสุข
จากภาพของสองข้างทางรถไฟเข้ามาเก็บไว้ให้เต็มที่
เพราะไม่รู้ว่าจะมีโอกาสนั่งรถไฟมาเยือนอัมพวาอีกเมื่อไหร่
หรือไม่แน่ ผมอาจติดใจจนกระทั่งแอบหนีความวุ่นวาย และหอบเอา
ความทุกข์ มาโยนทิ้งไว้ที่แม่น้าแม่กลองอีกก็เป็นได้
ใครจะไปรู้เล่า จริงไหม...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักไหม ยอดแหลม น่ะ ยอดแหลม

คุณเชื่อเรื่อง พรหมลิขิตไหม....

ดนตรีเศร้าหมองแห่งการบำบัด