รถไฟ ในความทรงจำ



มื่อสมัยเด็กๆ ผมเคยฝันอยากเป็นคนขับรถไฟ....
อ้าว มันผิดตรงไหนเล่า ใครๆก็มีความฝันทุกคนแหละ
ยิ่งเป็นฝันตอนสมัยเด็กๆแล้วด้วยละก็
บางคนถึงขนาดอยากเป็นเจ้าหญิงก็ยังมีนี่นา
แล้วกับคนขับรถไฟ ถึงมันจะดูแปลก แต่ก็เถอะ เอาน่า
ฝันใครก็ฝันมันนี่ครับ

ก็คงเป็นเพราะว่าในสมัยก่อน ผมได้อาศัยโดยสารรถไฟ
ไปไหนมาไหนบ่อยกว่าชาวบ้านเขา เรียกว่าปิดเทอม
เปิดเทอม เป็นอันว่าต้องได้ขึ้นรถไฟไปอยู่กับปู่ย่า
ที่บ้านพิษณุโลกเป็นประจำ ด้วยเหตุนั้นกระมัง ความผูกพัน
และความชอบโดยส่วนตัวของผมกับรถไฟจึงเกิดขึ้น
ผมชอบบรยากาศบนรถไฟในสมัยก่อนมาก จำได้ว่า
มันน่าสนุกกว่าปัจจุบันเป็นไหนๆ มีไก่ย่าง ข้าวเหนียว
มีอาหารจานๆร่อนไปร่อนมา ปลาหมึกย่างเสียบไม้
ขนมบ้าบิ่น ซึ่งจะมีแต่ที่สถานีท่าเรืออยุธยาเท่านั้น

ในปัจจุบันรถไฟของเราเห็นว่า(เขาบอก)พัฒนาไปบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่า
พัฒนาไปในทางไหน ตัวรถไฟเอง ผมก็เห็นว่ารถไฟไทย
ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก ตัวรถจักร ก็ยังคงเป็น
เหมือนเดิมเช่นเดียวกับคันที่ผมเคยนั่งเมื่อสมัยเด็กๆ
จะมีเปลี่ยนไปบ้างก็คงจะเป็นคนขายของบนรถไฟ
ที่หายหน้าหายตาไป มีแต่รถไฟเปล่าๆ กับผู้โดยสาร
ไม่มีสีสรร ความสนุกสนานอะไรเหมือนที่เคยเห็น
ในวัยเด็ก หรือว่าผมจะแก่ไปแล้วกันหนอ...

เช้าวันหนึ่งในฤดูร้อน จำไม่ได้อีกแหละว่าร้อนไหน
แต่รู้แต่ว่าร้อนมาก จู่ๆก็ได้ดูรายการท่องเที่ยวรายการหนึ่ง
พาไปดูพิพิธภัณฑ์รถไฟที่สวนจตุจักร ไวดั่งความคิด
ผมนึกถึงตูดไก่(ขออภัย จะเรียกก้นไก่ก็ดูจะกระแดะเกินไป)
สถานีรถไฟบางกอกน้อยขึ้นมาทันที

อ๊ะๆ จะว่านี่มันเกียวกับรถไฟตรงไหนเนี่ย ก็เลยอยากจะบอก
เอาไว้ก่อนว่า สมัยที่กำลังศึกษาอยู่ปริญญาตรี
ที่ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ผมมีโอกาสที่ได้ไปชิม
"ตูดไก่บางกอกน้อย" อยู่สม่ำเสมอตลอดระยะเวลาสี่ปี
ตูดไก่นี่บางคนบอกว่าไม่น่ากิน สกปรก สาบ
ที่สำคัญมันเป็นทางออกของของเสียจากไก่ ฯลฯ
ขอบอกครับ ถ้าท่านได้ชิมตูดไก่ร้านนี้แล้ว ท่านจะได้รู้ว่า
ตูดไก่ที่สะอาด อร่อย เป็นอย่างไร และจะคิดถึงแต่ความอร่อย
มากกว่าความสกปรกที่ได้ปรามาส คาดหมายไว้ตั้งแต่แรก
ความหอมเครื่องเทศที่ใช้ดับความสาบของตูดไก่
น้ำมันที่หยดออกมา (น้ำมันจากตูดไก่) รับประทานตอนร้อนๆ
พร้อมข้าวเหนี่ยวสักห่อ งานนี้เอาพระกระโดดกำแพงมาแลก
ผมก็ต้องบอกว่าไม่เอาละครับ(พูดไปอย่างนั้นแล)

ว่าแล้วก็จัดแจงแต่องค์ทรงเครื่องสะพายกล้องป๊อกแป๊กคู่ใจ
ออกเดินทางด้วยรถประจำทาง ฟรีครับ รัฐท่านเข้าใจคน
กระเป๋าเบาอย่างผมดี ใช้เวลาเดินทางประเดี๋ยวประด๋าว
ก็ถึงป้ายรถบางขุนนท์ จากนั้นก็เดินทะลุวัดสุวรรณย่านเก่า
ลัดเลียบผ่านเขตบางกอกน้อย เข้าซอยบ้านช่างหล่อ ไม่นาน
ก็ทะลุออกถึงท่ารถไฟ



เดี๋ยวก่อนนี่อะไรกันนี่ ปลายทางออกของซอยบ้านช่างหล่อ
มีสถานที่แห่งหนึ่งที่หยุดความกระหายตูดไก่ไว้ได้
อยู่แถวๆนี้มาตั้งนาน ไม่ยักกะเคยเห็นเคยรู้เลยว่า
มีพิพิธภัณฑ์รถไฟโบราณซ่อนอยู่ในโรงซ่อมบำรุงรถจักร
ธนบุรี อ้าว อย่างนี้คงต้องแวะดูก่อนแล้ว


จุดสังเกตของพิพิธภัณฑ์รถไฟโบราณแห่งนี้ก็คืออยู่ใกล้กับ
โรงพยาบาลศิริราช ใกล้กับวัดอมรินทราราม และอยู่หลัง
สถานีรถไฟบางกอกน้อย แค่ข้ามราง ซึ่งถ้ามองหาก็ให้
สังเกตหอน้ำที่เขียนว่า โรงรถจักรธนบุรีนั่นแหละ
เดินตรงไปหาได้เลย

โรงรถจักรธนบุรีแห่งนี้นอกจากจะเป็นโรงซ่อมรถไฟที่
ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันแล้วก็ยังเป็นที่ตังของพิพิธภัณฑ์รถไฟเก่า
ซึ่งมีจอดอยู่ให้เห็นทั้งในโรงจอดและนอกโรงจอดหลายคันอยู่
ตอนที่ไปถึงนี่ภายในโรงซ่อมบำรุงรถไฟเห็นมี หัวรถจักร
วิ่งสลับไปมาอยู่ขวักไขว่ อีกทั้งยังมีที่จอดติดเครื่องเสียงดัง
หึ่มๆ อยู่อีกสองคัน ผมจึงเดินเข้าไปพบพี่ช่างประจำป้อมยาม
เพื่อสอบถามดูก่อนว่าสามารถเข้าไปชม
ภายในสถานีซ่อมบำรุงได้หรือไม่ พี่ช่างใจก็ก็ตอบว่าได้
แต่ให้ระวังรถไฟด้วย ในช่วงที่ข้ามรางไปๆมา เพราะหากถ่ายรูปเพลินๆ
โดยไม่ได้สนใจรถไฟที่วิ่งไปวิ่งมาละก็อาจเกิด อุบัติเหตุได้
ซึ่งก็เคยมีบ้างที่ช่างภาพหลายๆคนถูกรถไฟเฉี่ยวชนเอาดังนั้น
แล้วการมาเยือนโรงรถจักรธนบุรีแห่งนี้ ก็ควรจะระมัดระวัง
เรื่องรถไฟเป็นสำคัญ

รถไฟไทยนี่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าใครเพื่อนในแถบเอเซียด้วยกัน
นัยว่าประเทศสยามของเรานั้นมีมาก่อนญี่ปุ่นเสียอีก
ดังประวัติของการรถไฟที่ว่าเริ่มแรกสร้างย้อนไปไกลถึงในสมัย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้านั่นเลยที่เดียว
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำริให้สัมปทาน
ชาวเดนมาร์คเข้ามาจัดสร้างรถไฟสายแรก
คือสายกรุงเทพ - สมุทรปราการ ระยะทางทั้งสิ้น ยี่สิบเอ็ดกิโลเมตร
ในปี พ.ศ. 2492
แต่ในปัจจุบันรถไฟสายนี้ก็สูญหายไปตามเวลาเนื่องจากการสร้างถนน
ซึ่งน่าจะใช้เวลาเดินทางสั้นกว่าทางรถไฟ จึงทำให้รถไฟสายนี้
ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย

ผมเดินเข้าไปหารถไฟคันแรกที่จอดอยู่ใกล้ๆกับทางเข้าบ้านช่างหล่อ
อาศัยจังหวะชุลมุนวุ่นวาย กระโดดหยองๆแหยงๆ เข้าไปถ่ายภาพรถไฟ
สีเหลืองๆ ที่เป็นหัวรถจักร ที่ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแบบเดียวกัน
กับที่พาผมไปบ้านปู่บ้านย่า ที่พิษณุโลก
ผมอดไม่ได้ที่จะยื่นมือไปลูบคลำๆ เจ้าหัวเหลือง คันแรก ก็คง
เป็นเพราะนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสจับต้องรถไฟที่เป็นหัวลาก
ซึ่งโดยปกติแล้วคนธรรมดา คงได้แค่จับต้องตู้โดยสารไปตามปกติ
แต่ไม่มีโอกาสได้จับต้องหัวลาก นับว่าเป็นโชคดีส่วนตัวของผมอย่างยิ่ง




เหตุหนึ่งที่ผมมีความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับรถไฟก็คือ ตราข้างรถไฟ
ผมสงสัยมาตลอดว่าตราที่ติดอยู่ข้างรถไฟ ที่มีคำว่า"บุรฉัตร" นั้น
หมายถึงอะไรตั้งแต่สมัยเด็กๆผมก็ยังติดใจและสงสัยมาตลอด
แต่ด้วยความที่ว่าโลกของเด็กต่างจังหวัดในสมัยผมนั้น
มันแคบเหลือใจ ห้องสมุดโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดอยุธยา
ก็ไม่ได้มีหนังสือมากมายให้อ่านเท่าไหร่
ต่างกับสมัยปัจจุบัน ซึ่งมีอะไรๆ ให้อ่านเยอะแยะมากมาย
โดยไม่ต้องไปห้องสมุด อยากรู้อะไรก็ค้นหาเอาในโลกไซเบอร์
นั่งรอประเดี๋ยวเดียวก็ได้คำตอบแล้ว
ดังนั้น คำตอบเรื่องนี้จึงมากระจ่างเอาเมื่อผมโตแล้วนี่เอง



พระองค์เจ้าบุรฉัตรชัยชยากรทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ สามสิบห้า
ในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้า และเจ้าจอมมารดาวาด
พระองค์ทรงได้รับหน้าที่ดูแลกิจการการรถไฟของประเทศไทย
ในตำแหน่ง ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ในสมัยนั้น
และทรงบุกเบิกและพัฒนากิจการรถไฟให้เจริญรุ่งเรือง
ทรงมีพระราชดำริขยายเส้นทางเดินรถไฟสายเหนือและสายใต้เข้าด้วยกัน
ในสายตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงสร้างทางรถไฟจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี
และสายตะวันออกจากฉะเชิงเทราถึงอรัญประเทศ
อีกทั้งยังทรงเป็นผู้นำเอาหัวรถจักรดีเซลเข้ามาใช้เป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย
และพัฒนามาเรื่อยๆจนกลายเป็นรถจักรดีเซลที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน


สิ่งหนึ่งที่ได้รับจากการอ่านพระราชประวัติ
ของพระองค์เจ้าบุรฉัตรชัยชยากรก็คือ พระองค์ได้ทรงนำเอา
หัวรถจักดีเซล เข้ามาใช้เป็นแห่งแรกใน เอเซีย ครับ เอเซียนี่ก็รวมญี่ปุ่น
เกาหลี จีน แลประเทศอื่นๆอีกหลายสิบประเทศ แต่เหตุไฉน
รถไฟของไทยซึ่งออกวิ่งเต็มกำลังก่อนประเทศอื่น
จึงถูกรถไฟชาติอื่นวิ่งแซงไปจนแทบจะมองไม่เห็นหลังกันเลยทีเดียว
เหลียวไปดูทุกวันนี้ ญี่ปุ่นมีรถไฟหัวกระสุน จีนมีรถไฟ Mag Lev แล้ว พี่ไทยยังใช้
รถไฟดีเซลอยู่เลย ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะครับ...สงสัยเหมือนผมไหม
แต่ก็เอาเถิด จะว่าไปเจ้าหัวเหลืองๆนี่มันก็ยังคงวิ่งได้ดีอยู่ อีกทั้งยังมองเป็น
วัตถุโบราณที่ยังคงจับต้องได้สัมผัสได้ ดูจากชาวต่างประเทศที่หัวลำโพงสิครับ
ผมเห็นหลายคนชอบนั่งรถไฟไปไหนมาไหนมากกว่าไปโดยทางอื่นเสียอีก
ในว่าเป็นของแปลก ประเทศเจริญแล้วอย่างเขาคงไม่มีให้นั่งอีกต่อไป
จึงต้องมาหานั่งเอาจากประเทศที่กำลังพัฒนา(อีกนาน) อย่างเรา เป็นการ
เพิ่มรายได้เข้าประเทศจากการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง


ในอาณาบริเวณโรงซ่อมบำรุงของโรงรถจักรธนบุรีแห่งนี้
มีรถไฟโบราณจอดแสดงอยู่หลายคัน
คันแรกที่จะพาไปชมก็คือหมายเลข 824
ผมขอเรียกว่าปู่แปดสองสี่แล้วกัน
ปู่แปดสองสี่นี่เป็นรถจักรไอน้ำที่ออกมาจอดแช่อยู่ภายนอกโรงจอด
สอบถามได้ความว่าเอาออกมาเตรียมตัวซ่อมบำรุงเพื่อที่จะใช้วิ่ง
ในวันปิยะมหาราชที่จะมาถึงนี้ ซึ่งปู่แปดสองสี่จะได้มีโอกาส
ออกมาวิ่งโชว์ตัว จากสถานีหัวลำโพงไปยังอยุธยา
ซึ่งเป็นประเพณีไปเสียแล้วที่ในปีหนึ่งๆ ปู่แปดสองสี่จะได้ออกมาวิ่ง
เพียงวันเดียวจบงาน ก็กลับไปนอนนิ่งอยู่ในโรงจอด
รอเวลาออกมาวิ่งอีกครั้งในปีหน้า...



สิ่งที่ตื่นเต้นที่สุดในการมาเยือนโรงรถจักรธนบุรีโดยบังเอิญก็คือ เจ้าหน้าที่
อนุญาติให้ปีป่ายขึ้นไปสัมผัส เข้าไปนั่งเล่น เข้าไปถ่ายภาพรถไฟได้ทุกคัน
พระเจ้าจ๊อด มันยอดมากครับ เท่านั้นแล เด็กชายนวพงศ์
ก็เข้ามาแทนที่นายนวพงศ์ทันที ผมไม่รีรอทีจะปีนป่ายรถไฟ ขึ้นไปนั่ง
ในตำแหน่งพลขับ ยื่นหน้าของไปมองช่องหน้าต่าง จับคันเร่งโยกไปโยกมา
สมมติตัวเองว่า กำลังขับปู่แปดสองสี่ทะยานไปในเส้นทางที่ทอดยาว
ไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดข้างหน้า มีพลฟืนคอยโยนฟืนแลโหมไฟต้มน้ำ
ให้รถไฟเร่งไปเต็มฝีจักร มีผู้โดยสารรออยู่ตามสถานีต่างๆ
ที่ผมต้องคอยบังคับให้ปู่แปดสองสี่ จอดรับคนเหล่านั้น
ได้ตรงตามชานชาลา...
วันนี้เป็นวันที่ผมมีความสุข มากที่สุดวันหนึ่งในชีวิต



ถ้าสังเกตจากรูปของปู่แปดสองสี่ จะมองเห็นรถไฟไอน้ำอีกคันหนึ่งจอดอยู่ข้างๆกัน
คือทวด 950 ทวดเก้าห้าศูนย์กับปู่แปดสองสี่นี่เป็นรถไฟรูปทรงเดียวกัน
แต่ทวดเก้าห้าศูนย์จะมีขนาดเล็กและสั้นกว่าปู่แปดสองสี่
และผมก็ไม่รู้ว่าใครเก่ากว่ากันระหว่างทั้งสองคัน
ทวดเก้าห้าศูนย์ที่เห็นจากลักษณะภายนอก เก่ากว่าและโทรมกว่าปู่แปดสองสี่มาก
ที่สำคัญทวดเก้าห้าศูนย์คงไม่มีโอกาสออกไปโชว์ตัวที่ไหนได้อีกแล้ว
เนื่องจากอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่สามารถวิ่งอีกต่อไปได้
ผมปีนขึ้นไปดูก็พบว่าทวดเก้าห้าศูนย์ไม่มีคันบังคับ คันเร่ง หรืออุปกรณ์ใดๆ
ที่จะใช้ขับเคลือนให้วิ่งไปมาได้อีก นัยว่าคงถูกถอดออกไปเป็นอะไหล่
ให้กับคันอื่นที่ยังมีสภาพดีกว่านี้ได้วิ่งแทน
โถ จะว่าไปก็น่าสงสารนะครับ
ตัวเองหมดสภาพไป แต่ก็ยังคงอุทิศอวัยวะในร่างกายให้กับคนอื่น
ต่อชีวิตและลมหายใจให้กับคนอื่น หลังจากที่ตัวเองร่วงโรยสังขาร
ไปตามวาระเวลา แล้วคนอย่างเราล่ะ ทำอะไรดีๆให้กับสังคมได้บ้างหรือยัง
คืนอะไรให้กับประเทศชาติและแผ่นดินเกิดบ้างหรือยัง
อายทวดเก้าห้าศูนย์บ้างไหมเล่า..

ผมใช้เวลาตะเกียจตะกายปีนขึ้นปีนลงปู่แปดสองสี่กับทวดเก้าห้าศูนย์
อยู่พักใหญ่ เรียกว่าเล่นจนหนำใจแลสมใจอยากเลยเห้นจะได้
และเมื่อรู้สึกว่าเหนื่อยและพอสมควรกับการเล่นสนุก
กับรถไฟทั้งสองคันแล้ว ก็ได้เวลาเดินสำรวจไปยังที่อื่นบ้าง
ภายในโรงซ่อมบำรุงรถจักร ในส่วนที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์นั้น
ยังมีรถไฟรุ่นปู่ๆอีกสามสีคันจอดเรียงๆกันอยู่ซึ่งก็ดูเหมือนว่า
จากสภาพแล้วยังสามารถวิ่งได้ทุกคัน อีกทั้งยังมีประวัติของหัวรถจักร
รุ่นต่างๆติดเป็นป้ายแสดงไว้ให้อ่านเพื่อความเข้าใจด้วยทุกคัน







ข้อเสียที่พบในสถานที่แห่งนี้ก็คงจะมีหลายเรื่องก็คงจะตั้งแต่
ไม่มีใครู้ว่ามีพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ตรงนี้ จะเนื่องด้วยขาดการเอาใจใส่
และงบทำนุบำรุงจากทางภาครัฐก็อาจเป็นไปได้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
จึงดูเหมือนจะเป็นโรงซ่อมรถไฟมากกว่าจะดูเป็นพิพิธภัณฑ์

สองก็คือส่วนแสดงรถไฟก็ดูเหมือนจะเป็น
โรงจอดรถไฟมากกว่าพิพิธภัณฑ์ ค่าที่ว่ารถไฟที่นำมาจัดแสดงนั้น
จอดอยู่ในมุมมืดๆ อับๆ ไม่มีแสงเข้าถึง
ประกอบด้วยทางเดินภายในอาคารซ่อมบำรุงนั้น
แฉะและลื่นไปด้วยน้ำมันดำ และจารบีเหนียวๆ
แล้วใครเล่าจะกล้าเดินเข้าไปในซอกมืดที่มองไม่รู้ว่า
มีทางเดินหรือไม่ ผมคนหนึ่งละที่ไม่กล้าเสียงเดินเข้าไปในมุมนั้น
เพราะเกรงว่าจะไปทำซุ่มซ่าม ลื่นล้ม โดนรถไฟทับ
ซี้แหงแก๋ เป็นผีเฝ้ารถไฟไปเสียฉิบ
ดังนั้นผมจึงได้แต่ชื่นชมรถไฟในส่วนที่สามารถมองเห็นได้
ด้วยตาเปล่า โดยไม่ต้องอาศัยแสงไฟเข้าช่วยแต่เพียงเท่านั้น
สาม ป้ายต่างๆที่ติดไว้อรรถาธิบายประวัติความเป็นมา
ของรถไฟแลหัวรถจักรต่างๆนั้น ทำได้ไม่ดีเอามากๆ
ก็คงสืบเนื่องมาจากข้อที่หนึ่งที่ว่า ไม่มีงบประมาณ
มาสนับสนุน ให้กับที่นี่ ป้ายที่ออกมาจึงเป็นแค่
ป้ายกระดาษเก่าคร่ำคร่า แปะอยู่บนผนังทึมๆ
เท่านั้นเอง

แต่ก็อย่างที่บอก มีข้อเสีย มันก็จะต้องมีข้อดี
ข้อดีที่ว่าก็คงจะเป็นที่ว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นพิพิธภัณฑ์
ที่ผมอยากให้มีมากๆ ในประเทศไทยของเรา
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สามารถจับต้องได้ เล่นได้
ถ่ายรูปได้ เคลื่อนไหวได้ มีชีวิตชีวา
ซึ่งนั่นมันหมายถึงความสนุกสนานและบันเทิง
จะเกิดแก่ผู้ที่เข้ามาชมเข้ามาดู
ยิ่งกว่านั้น เด็กๆก็คงจะได้ความรู้
ได้เห็น ได้สัมผัสของจริง ไม่ใช่ใช้จินตนาการเอา
ผู้ใหญ่ก็จะได้เรียนรู้ รำลึก หรือเติมเต็ม
สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้เห็นตั้งแต่ในวัยเด็ก
ไม่ใช่เห็นแต่อยู่ในตู้ ห้ามจับ ห้ามแตะ
แล้วอย่างนี้ ปัญญาและความคิดสร้างสรรค์
มันจะเกิดได้อย่างไรเล่าท่านผู้ทรงปัญญาในสภาทั้งหลาย
เวลาเคลื่อนย้าย จากเช้าไปเย็นได้อย่างไรผมไม่ทันได้สังเกต
มารู้ตัวอีกที ก็ล่วงไปหลายบ่ายอยู่ ผมจึงต้องหันมาเก็บภาพ
รถไฟให้เยอะมากกว่าที่จะมาเล่นโหนไปโหนมา จนเวลา
จะหมด และรีบเก็บข้าวของออกมาเก็บภาพภายนอก
อาคารโรงรถจักรเรื่อยไปจนกระทั่งถึงสถานีรถไฟธนบุรี




ปัจจุบันสถานีรถไฟธนบุรี ขยับขยายออกมาจากจุดเดิมเล็กน้อย
เพราะเหตุว่าโรงพยาบาลศิริราชได้เวนคืนสถานีรถไฟธนบุรีเก่า
ที่มีตำนานเกียวกับสงครามโลกครั้งที่สอง
และตำนานรักที่ยิ่งใหญ่ของชายหนุ่มทหารญี่ปุ่นที่ชื่อ
โกโบริและสาวไทยที่ชื่อ แม่อังสุมาลิน ที่มาจบตำนาน
อันหวานชื่นด้วยความตายของโกโบริ ณ.สถานีแห่งนี้
อ่านจากป้ายได้ความว่าสถานีเก่าจะกลายเป็นสมบัติส่วนหนึ่ง
ของโรงพยาบาลไปเสียแล้ว
อ้าว แล้วนี่ผมจะมีโอกาสได้ชิม ได้ชมตูดไก่เคล้าบรรยากาศ
สมัยสงครามโลกอีกหรือเปล่าเนี่ย

จริงดังคาด ร้านตูดไก่ย่างอันเป็นที่รักยิ่งของผมได้หายไปจากบริเวณ
สถานีรถไฟธนบุรีเดิมเสียแล้ว ก็คงเป็นผลสืบเนื่องจาก
การเวนคืนที่ดินและสถานที่ของทางโรงพยาบาลศิริราช เพื่อ ปรับปรุง
ภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ เขาก็คงไม่ต้องการให้มีรถเข็นขายของระเกะ
ระกะรกหูรกตามายุ่มย่ามอยู่แถวนี้หรอก
เฮ้อ แล้วนี่ย้ายไปที่ไหนก็ไม่ได้ร่ำได้ลากันเลย
ใครทราบข่าวหรือพบเจอร้านขายตูดไก่ย่างแบบรถเข็นที่อร่อยๆ
อยู่ที่ไหน ก็ส่งข่าวส่งความมาบ้างก็ดีครับ
เห็นแก่คนเห็นแก่กินแบบผมสักคนเถิด จะเป็นพระคุณอย่างสูงที่สุด


ก่อนจะจากไปจริงแล้วก็ไม่ใช่ว่าแถวๆนี้มีแค่ตูดไก่เพียงอย่างเดียว
ที่อร่อยมากๆเสียเมื่อไหร่ ยังมีขนมหวานท่ารถไฟอีกเจ้าหนึ่ง
ที่ขายอยู่คู่กับสถานีรถไฟแห่งนี้มานมนาน
เรียกว่ากินตูดไก่เลี่ยนๆมันๆ มาแล้ว ก็ต้องมาดับคาวด้วย
ขนมหวานน้ำแข็งใสเจ้านี้กันอยู่คนละถ้วยสองถ้วย
ทุกครั้งไป เหตุที่ขนมหวานน้ำแข็งใสเจ้านี้ไม่ถูกเวนคืนที่
ไปทำโรงพยาบาลก็คงเป็นเพราะร้านค้าของเขาเป็นแบบ
หาบเร่ และไม่ได้อยู่ในเขตโรงพยาบาลแต่เลื่อนลึกเข้ามาอยู่ใน
เขตท่าเรือข้ามฟากไปท่าพระจันทร์ คงทำให้รอดพ้นจากการโยกย้าย
ที่ทำกินไปได้

เอาละยังดีที่มีขนมหวานอยู่เจ้าหนึ่งที่ยังเหลือรอด คราวนี้ก็ขอ
รำลึกความหลังครั้งจีบกับภรรยาด้วย แตงไทยน้ำกระทิก็แล้วกัน
กินด้วยกันไหมครับ...

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักไหม ยอดแหลม น่ะ ยอดแหลม

คุณเชื่อเรื่อง พรหมลิขิตไหม....

ดนตรีเศร้าหมองแห่งการบำบัด