เริ่มต้นที่บนเขา ลงท้ายที่ปลายเขื่อน

สวัสดีปีใหม่ครับ...
ก่อนอื่นต้องขอกราบอวยพรปีใหม่ แด่บรรดาแฟนนานุแฟน
ทั้งประจำ แลขาจร ทิ่มีอยู่น้อยนิด กระผมขอกราบอวยพร
ให้ทุกท่านประสบแต่ความสุข ความเจริญ ทั้งในด้านหน้าที่
การงานและครอบครัว ขอให้ได้ร่ำได้รวย สุขภาพแข็งแรง
สมบูรณ์ ครอบครัวประสบความสุขทั่วหน้า ขอคุณพระศรีรัตนไตร
และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในทั่วทั้งสากลโลก คุ้มครองให้ท่านผู้อ่านของ
ผม มีความสุขตลอดปีใหม่ ๒๕๕๓ ด้วยเถิด สาธุ


อะแฮ่ม ก็วนกลับมาเข้าเรื่องเลยแล้วกันนะครับ
ก่อนวันปีใหม่สักเดือนหนึ่งหรือครึ่งเดือนเห็นจะได้นี่
สำหรับผมเป็นเวลาที่ยุ่งยากใจพอสมควรเชียวครับ
ต้องเคลียงานให้จบก่อนวันที่ยี่สิบห้า ต้องกะเวลาว่าจะนัดใครมา
เรียนอีกทีตอนไหน ต้องคุยกับภรรยาเรื่องวันหยุด จะหยุดตรงกันหรือเปล่า
ต้องมองหาเสื้อกางเกงสำหรับฤดูหนาว(ที่ควรจะต้องหนาวแต่ไม่หนาวเลย)
ต้องจัดเตรียมกระเป๋า ขุดค้นหาของบางอย่างมากองๆ รวมกันไว้
เพื่อเตรียมยัดลงใส่กระเป๋าในคืนวันก่อนเดินทาง
ต้องหานัดคนนู้นคนนี้ ว่าจะไปบ้านใคร ไปนอนบ้านใครและจะไปอย่างไร
เอารถไปเอง หรือ อาศัยติดรถเขาไป โอยอีกล้านแปดประการ



เรื่องหนึ่งที่มักจะเป็นประเด็นหลัก "ส่วนรวม" ให้มานั่งถกเถียงกันได้อยู่บ่อยๆ
ก่อนเดินทางทุกครั้งก็คงไม่พ้นเรื่อง "ไปเที่ยวไหนดีคราวนี้" สมัยเด็กๆ
แม่หรือพ่อมักจะบ่นกับผมเสมอว่า "คิดแต่จะเที่ยว ไม่คิดเรื่องจะร่ำจะเรียน
หนังสือหนังหาบ้างเลยหรือ" พอโตขึ้นมา แม่กับพ่อก็เปลี่ยนประเด็น
เรื่องการเที่ยวไปนิดหน่อย กลายเป็น "คิดแต่จะเที่ยว ไม่คิดจะอยู่บ้านอยู่ช่อง
บ้างเลยหรือ" อืม นึกย้อนไปมานี่ก็ถูกของพ่อแม่ผมเหมือนกันนะ เรื่องเที่ยวนี่
มันซึมๆเข้ามาในนิสัยของผมตั้งแต่เมื่อไหร่ก็จำไม่ได้ รู้แต่ว่า นิสัยเที่ยว
พเนจรร่อนไปมาค่ำไหนนอนนั่นนี่ ติดตัวผมมาตั้งแต่จำความได้
สมัยเด้กๆก็เที่ยวเดินท่อมๆข้ามอำเภอ ข้ามท้องนาไปดูหนังดูลิเก
กลับดึกกลับดื่นข้ามคืนเข้าเช้าก็บ่อยๆ พอโตขึ้มาเป็นวัยรุ่น
ปีกกล้าขาแข็ง พ่อแม่ปล่อยให้อยู่คนเดียวสามปีนี่ยิ่งหนักเลย
จำได้ว่าชั่วงนั้นเที่ยวหนักสุด เหนือสุดก็พม่า และภาคหนือตอนบน
ทุกจังหวัดในสิบวัน นอนวัด นอนโรงเรียน นอนศาลาริมทาง ไปเรื่อยเปื่อย
ใต้สุดก็เกาะตะรุเตา นั่งเรือหนีพายุตุ๊มๆต่อมห้าหกชั่วโมง
ตะวันออกสุดก็ไปขี่ปลาโลมาเล่นเพลินๆที่จันทบุรี
ตะวันตกสุดก็เสียงภัยไปนอนเล่นหน้าบ้านกระเหรี่ยงอพยบที่ราชบุรี
เรียกว่าสมคำด่าของยายที่ว่า "ไปรอบทุ่งรอบท่า" เลยสมัยนั้น
แต่พอมาพ้นระยะวัยคะนอง มันก็ซาๆหยุดๆไปเองได้ ไม่เห็นต้องมีใครมาร้อง
มาเตือน หรือจะเข้าวัยชะแรแก่ชราแล้วหว่าเรา(ฮา)


อ้าวหลงประเด็นไปเสียไกล กลับมาที่เดิมกันเถิด คราวปีใหม่นี้ คณะกลางคน
ทัวร์ของเรากะการกันว่า จะไปเยี่ยมพี่สาว คนหนึ่งซึ่งไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือ
อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พี่สาวก็ใจดีเหลือหลาย
จัดแจงหาที่ท่องเที่ยวมาให้ เป็นสถานที่บนดอยแห่งหนึ่งที่ีเขาว่ากันว่า
เป็นดอยที่ปลูกกะหล่ำปลีมากที่สุดของประเทศไทย เรียกว่าภูเขาทั้งภูเขา
มีแต่กะหล่ำปลีแทงดอกขึ้นมาเบียดบังต้นไม่ไปจนหมด นั่นก็คือ "ภูทับเบิก"
ตกลงรับปากรับคำ จัดที่หลับปรับเวลาไปมาและอาหารการกินกันเรียบร้อยแล้ว
ก็เหลือแต่คอยเวลาเดินทางเท่านั้น

สามสิบเอ็ดธันวาคม ออกเดินทางจากกรุงเทพตามเวลาที่ตกลงกันไว้คือตีสี่
เดินทางยามเช้าๆนี่ดีอย่างหนึ่งก็คือ เราจะไม่เจอกับรถรามากมายและขวักใขว่นัก
อากาศก็เย็นสบายดี เราใช้เวลาเดินทางไปยังจุดนัดพบ(ถ่ายคนลงไปอีกรถหนึ่ง
เนื่องจากรถที่มาแน่นมากเกินไป และผู้โดยสารตอนหลังส่วนใหญ่
รวมทั้งผมด้วย น้ำหนักเกินรถจะรับไหว) ที่อยุธยาภายในเวลาสี่สิบนาที
แวะปั๊มน้ำมัน จอดพัก รอสักอึดใจเดียวพี่สาวก็มาถึงพร้อมกับข่าวก็คือ
ตอนนี้ที่เพชรบูรณ์ฝนตกมาก ถนนลื่น เกรงว่าขึ้นภูไปจะอันตราย
ทริปดูทะเลหมอกเคล้าดอกกะหล่ำ ก็เป็นอันว่าต้องงดไปก่อน เอาละซิ
แล้วคณะทัวร์กลางคนของผมจะทำอย่างไรเล่าคราวนี้
ระหว่างทางที่รถออกเดินทางจากจังหวัดอยุธยาไปจนถึงบ้านที่พิษณุโลกเรื่อง
ที่วิ่งวุ่นวายไปมาอยู่ในหัวของผมก็คือ ไปไหนดี แล้วเสียงของยายก็แว่ว
เข้ามาตามลมว่า "ไอ้นี่ ไปเที่ยวรอบทุ่งรอบท่า บ้านช่องอยู่ไม่ติด"

กระทั่งเดินทางมาถึงบ้านพักของคุณอาผู้หญิงท่านหนึ่งซึ่งรับเป็นผู้อุปการะที่กิน
ที่นอนในทุกๆครั้งยามมาเที่ยวที่พิษณุโลกและอยู่กรุงเทพ กระผมขอกราบ
ขอบพระคุณผ่านทางบทความนี้ ในความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีความเมตา
กรุณาให้ที่พักพิงแก่ผมและภรรยาทุกครั้งไป อีกทั้งยังขอให้คงความเมตา
ต่อผมไปอีกนานๆและนานๆนะครับ กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ
อ้าว วนไปเรื่องอื่นสักนิดจะเป็นไรเล่า
คราวนี้สวรรค์มาโปรดครับ คุณป้าซึ่งเป็นพี่สาวของคุณอา ท่านเคยเป็นเจ้าหน้าที่
พนักงานราชการป่าไม้ ได้แนะนำให้คณะวัยกลางคนของผมได้รู้จักกับ
สถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง อยู่ไม่ไกลจากจังหวัดพิษณุโลกเท่าใดนัก อีกทั้งยัง
เป็นธุระจัดการจับจองที่หลับที่นอน โทรศัพท์สอบถามหนทาง
และที่กรุณามากไปกว่านั้นคือทั้งคุณป้าและคุณลุง อาสาจะขับรถ
นำพาคณะหลานชาวกลางคนไปยังสถานที่แห่งนั้นด้วยตัวเองเลยที่เดียว
อันนี้ก็เป็นอันว่ากระผมและคณะวัยกลางคนต้องขอกราบขอบพระคุณ
ทั้งคุณป้าและคุณลุงผ่านบทความนี้อีกสักสองท่าน
อ่าเริ่มปีใหม่นี้ ผมรู้สึกได้ว่าน่าจะดี ทั้งปีแน่นอน เย็นนั้นและรวมถึง
คืนข้ามปี ผมจึงนอนยิ้มและหลับฝันถึงแต่ความสนุกในวันรุ่งขึ้น




ทริบกลางคนนี่ปกติจะประกอบไปด้วยสมาชิกภาพถาวรสามคน
คือ ตัวผม เมียหรือภรรยา น้องชายเบอร์ห้า สมากชิกแบบขาประจำ
แต่ต้องคอนเฟิร์มล่วงหน้าหนึ่งคน คือน้องชายหมายเลขเก้า
สมาชิกแบบไม่แน่ไม่นอน ยืนยันแล้วก็สามารถยกเลิกได้ไม่ว่ากัน
หนึ่งท่านคือน้องชายเบอร์หก สมาชิกแบบ บอกก็ไม่ไปถ้าไม่บอก
อาจจะไปแต่ต้องดูหนังเกาหลีจบก่อน มีหนึ่งคน คือน้องสาว
หมายเลขเจ็ด ที่เหลืออีกสามเบอร์ คือสิบสี่สิบห้าสิบหก ต้องนัดล่วง
หน้า ไปก็บอกไปไม่ไปก็บอกไม่ไป เช้าวันนั้นเรารวมๆสมาชิกได้แค่สี่คน
คือผมเบอร์สี่ ภรรยาสี่จุดห้า น้องชายเบอร์ห้า และน้องชายเบอร์เก้า
ภรรยานี่ถือเป็นอะไรที่งอกออกมา จึงต้องมีจุดทศนิยมให้ เดี๋ยวนับ
เบอร์เรียงเลขกันไม่ถูกว่าลูกเขาเมียใคร ส่วนเบอร์ที่นับข้ามๆไป
ก็หมายถึงมีธุระปะปัง หรือนานๆปีสีตชาติจะเจอกันเสียหนึ่งหน
ไม่เป็นไรไม่ว่ากัน คนมีธุระกันได้นี่

อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน คือสถานที่ที่เป็นเป้าหมายของการเดินทาง
ในครั้งนี้ของเรา จากพิษณุโลกใช้เวลาเดินทางราวๆชั่วโมงเศษๆ
กับระยะทางร้อยกว่ากิโล ถือว่าใกล้มากๆสำหรับทริปนี้เลยทีเดียว
แค่ออกจากพิษณุโลก ไปตามเส้นทางที่จะไปอำเภอวังทอง
เลี้ยวซ้ายที่แยกอินโดจีน แยกที่มีป้ายตลกๆ ที่ชี้ว่าไปมาเลเซีย
อีกพันกว่ากิโล ไปพม่าอีกห้าหกร้อยกว่ากิโลนั่นแหละ แล้วก็ดิ่งตรง
อย่างเดียว จนกระทั่งผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ เมืองพระยาพิชัยดาบหัก
ไปได้สักยิี่สิบกิโล ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำน่าน เมื่อพบสี่แยกไฟแดง
ที่มีทุเรียน ลางกอง(เขาเรียกลางกองจริงๆไม่ใช่ลองกอง) ดาบเหล็ก
น้ำพี้ และสับปะรด ลูกเท่าบ้าน ให้เลี้ยวขวาที่แยกนั้น จากนั้นขับ
ไปเรื่อยๆสักยี่สิบกว่ากิโล ก็จะถึงอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน ที่จะอยู่
ทางซ้ายมือ ก่อนถึงเขื่อนสิริกิติ์ สักราวๆสิบกิโล หากไปไม่ถูก
จากอุตรดิตถ์ให้ถามว่า ทางไปเขื่อนสิริกิติ์ไปทางไหน
นั่นแหละ อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่านไปทางเดียวกัน แต่ถึงก่อน







เราแวะรัปประทานอาหารกลางวันที่ร้านของการไฟฟ้าใต้เขื่อน
สิริกิติ์ จากนั้นพออิ่มท้องแล้วก็ส่งป้ากับลุงขึ้นรถกลับพิษณุโลก
ชาวคณะก็เดินถ่ายภาพกันไปเรื่อยๆ เขื่อนสิริกิติ์นี่เป็นเขื่อนดินที่มี
ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม
ปี ๒๕๑๑ เดิมชื่อเขื่อน ผาซ่อม โดยสร้างกันแม่น้ำน่าน
บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
เขื่อนดินนี่แปลว่า เขาเอาดินมาโบกๆ
กั้นเป็นสันเขื่อนขึ้นมาก่อน จากนั้นค่อยเอาหินมาโรย
กันดินแยกแตกออก จริงๆผมก็สงสัยเหมือนที่น้องชายเบอร์ห้า
สงสัยเหมือนกันว่า มันดินตรงไหน หินทั้งนั้น แต่ก็มาถึงบางอ้อ
ว่าถ้าเอาปูนมาโบกๆทั้งหมด เรียบๆเรียกเขื่อนปูน
อย่างเขื่อนภูมิพลจังหวัดตากนั่นไงเล่า
ถ้าเอาหินมาโยนๆทับๆกัน เรียกว่าเขื่อนดิน อ้อ
หมดข้อสงสัยแลได้ความรู้เพิ่มมาอีกหนึ่ง

แดดบนสันเขื่อน รวมไปถึงความวุ่นวายและจอแจของคน
และพาหนะ รวมไปถึงเสียงจากลำโพงที่เปิดเพลงฝรั่งโครมคราม
บริเวณบนสันเขื่อนนี่ ทำให้ผมไม่อยากออกเดินไปไหน
ได้แต่มายืนหลบแดด อยู่ใต้ร่มไม้ รอเวลาออกเดินทางไปยัง
อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน ดังนั้น เมื่อไม่มีใครอยากจะเคลื่อน
ตัวออกไปจากเงาไม้ เวลาที่เราเดินเล่นบนสันเขื่อนจึงเสียไป
ไม่นานนัก

เมื่อมาถึงที่พัก สิ่งแรกที่เราประทับใจก็คือบ้านพักที่จับจองได้นั้น
สะอาด และมีวิวที่สวยมาก เป็นบ้านไม้ทั้งหลัง เล่นระดับในช่วง
หลังบ้านที่เป็นระเบียงและห้องครัว โต๊ะทานอาหารสามารถ
มองออกไปเห็นวิวอ่างเก็บน้ำได้ ห้องนอนมีสามห้องนอน
สามารถนอนได้สองคนต่อหนึ่งห้อง มีห้องน้ำพร้อมน้ำอุ่นๆ
สองห้อง แต่ปัญหาก็คือ เรามาสี่คน ครั้นจะแยกกันนอน
คนละห้องก็เกรงว่าจะเหงาเกินไปสักหน่อย
หรือจะนอนรวมกันห้องเดียว ก็จะดูอึดอัดมากไปอีก
เราจึงแก้ปัญหาโดยการเอาฟูกที่นอน ลากมากองรวมกัน
ที่ห้องกลาง แล้วนอนรวมกันสี่คน เป็นอันอุ่นใจและ
เพิ่มความสามัคคีในหมู่คณะได้อย่างดี...




เมื่อแดดเริ่มอ่อนแรงในช่วงบ่ายๆ ผมและชาวคณะ
ก็ตกลงใจจะออกตระเวนเก็บภาพสวยๆภายในสถานที่
อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่านแห่งนี้ กล้องถ่ายรูปถูกชักขึ้นมา
เก็บภาพสวยๆตามริมๆน้ำในเขื่อน ช่างกล้องทั้งสามสี่คน
ก็ต่างคนต่างเดินแยกย้ายกันไปหามุมมองคนละมุมสองมุม
ผมก็เดินเลาะริมน้ำไปเรื่อยๆ ใจหนึ่งก็คิดอยาก
จะลงไปว่ายน้ำสักยกหนึ่ง อีกใจก็ประหวั่นพรั่นพรึงเรื่อง
สังขารที่ไม่น่าจะเอื้ออำนวยแก่การว่ายน้ำเล่นคนเดียว
สักเท่าไหร่ สมัยก่อนอยากว่ายน้ำคนเดียวตอนไหน ก็แก้ผ้า
กระโดดผางลงไปดำผุดดำว่าย พอใจก็กลับขึ้นบกตามความ
ต้องการ แต่คราวนี้เห็นทีจะไม่ไหว ขึนลงไปเล่นเกิดเป็นตะคริว
ตะไกร หัวใจวาย มีหวังได้เสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร
เป็นแน่แท้ คิดแล้วก้แค่ได้แต่เอาขาไปจุ่มน้ำ วักน้ำมาล้าง
หน้าล้างตาพอเย็นใจก็พอ










สิ่งหนึ่งที่ผมรับรู้จากเจ้าพนักงานในอุทยานก็คือ
สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ไม่ค่อยมีคนมาเที่ยวมากเท่าไหร่นัก
ฟังจากที่พี่ท่านพูดว่าอยากให้คนมา
ยุ่งๆมากกว่าจะอยู่กันอย่างเงียบๆแล้วสะท้อนใจครับ
พี่เจ้าพนักงานท่านว่า ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวมักจะ
เลยไปพักแรมกันที่บริเวณเขื่อสิริกิติ์มากว่า ผมไม่แน่ใจว่า
ส่วนมากนักท่องเที่ยวไม่รู้จักอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน
หรือไม่ก็ทางอุทยานไม่ได้ประกาศออกตัวว่า มีสถานที่สวยๆ
อยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์นี้ด้วยหรือเปล่า
คนจึงแห่กันไปพักที่ริมเขื่อนมากกว่าจะมาที่นี่ ซึ่งจากการที่ผม
ผ่านไปเห็นบริเวณที่พักในเขื่อนสิริกิติ์ เอามาเปรียบเทียบกับ
บริเวณอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่านนี้แล้วนั้น หากจะให้คะแนน
ผมก็ให้บริเวณเขื่อนสามคะแนน ส่วนที่อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน
ที่นี่นั้น เอาสิบคะแนนไปเลยก็น่าจะได้ แล้วถ้าจะเปรียบเทียบ
กับเขื่อนอื่นๆเช่นแก่งกระจาน ผมว่าที่นี่ก็ยังสวยกว่ามากมาย
หลายสถาน ดังนั้นหากท่านมีเวลาในคราวหน้า แนะนำสถานที่
อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่านนี่เลยครับ ไม่ผิดหวังแน่นอน




หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า พวกเราก็หลบกลับเข้ามาในบ้านพัก
อาบน้ำอาบท่าเตรียมตัวเข้านอน ในระหว่างที่กินข้าวกินปลา
อยู่ น้องชายเบอร์เก้าก็เหลือบไปเห็นพระจันทร์ดวงกลม
ลอยเด่นเป็นสง่าอยู่ริมขอบน้ำ ซึ่งเป็นภาพที่ทุกคนต้องละมือ
แลหยุดพักจากการรับประทานอาหาร และต้องมนต์สะกด
ไปกับความงามที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า สักอึดใจหนึ่ง การรับประทาน
อาหารแบบอ้อยอิ่งก็เป็นอันว่าต้องรีบๆกินกันทันที เพราะโอกาส
จะเก็บภาพดวงจันทร์เต็มดวง และสวยงามแบบนี้
หายากมากยามใช้ชีวิตในเมืองกรุงเมืองหลวง
พวกเราจึงวิ่งไปหยิบกล้องประจำกายของตนเอง
และรีบจ้ำอ้าวออกที่พักไปหาที่ถ่ายภาพดวงจันทร์ยามนี้กันทันที





คืนนั้นผ่านพ้นไปด้วยความสุขและประทับใจ เช้าวันรุ่งขึ้นคณะของเรา
ก็จัดการออกเดินทางแต่ไก่โห่ เพื่อมุ่งหน้าไปเตรียมเก็บภาพดวงอาทิตย์
ยามเช้าตรงบริเวณจุดที่นักท่องเที่ยวออกมากางเตนท์กันอยู่ริมน้ำ
ซึ่งแถวๆนี้น่าจะเป็นจุดที่สวยที่สุดของอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน
แห่งนี้...

วิสัยของคนถ่ายภาพนี้แปลกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องตื่นก่อนชาวบ้านเขา
เพื่อไปเก็บภาพตอนเช้าพระอาทิตย์ขึ้น กลางวันก็เข้าที่นอนเก็บ
เอาแรงเอาเรี่ยว เพื่อจะรอเวลาแดดอุ่นๆในยามเย็นจากนั้น
ค่อยโผล่หัวออกมาเก็บภาพอีกครั้งจนกระทั่งตะวันลับฟ้า
ก็ไม่ใช่อะไร ถ้าหากจะว่ากันไปตามทฤษฏีการถ่ายภาพที่ร่ำเรียนมา
อาจารย์ท่านสั่งนักสั่งหนาว่าให้ถ่ายรูปได้ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น
จนถึงราวๆสิบโมงเพราแสงแดดช่วงนั้นจะสวยราวกับจัดตั้ง
ส่วนกลางวันนั้นเป็นข้อห้ามเพราะแสงตรงหัวนั้นจะเกิดเงาทับหน้า
ถ่ายไปก็มืดๆมัวไม่งามจะถ่ายก้ต้องใช้แฟลชมาลบเงาหน้า
ซึ่งก็ไม่สวยไม่งามตามธรรมชาติอยู่ดี
ดังนั้นหากพลาดตอนเช้า ออกมาอีกทีก็สี่โมงเย็นยันอาทิตย์ตกดิน
ก็จะให้แสงที่สวยงามได้อีกแบบหนึ่ง แต่ปัญหาก็คือผมมันมือใหม่
อาศัยว่าแก่ถ่ายอย่างไรก็ไม่ค่อยสวยไม่ค่อยงาม
ต่อให้แสงดี ทฤษฏีเป๊ะอย่างไร อาจารย์ท่านคงก็จะเคือง
หากเอาภาพที่นักเรียนแก่คนนี้ถ่ายไปให้ชม









เมื่อคณะของเราเก็บภาพถ่ายลงกล้องกับพระอาทิตย์ยามเช้า
กันจนเป็นที่พอใจแล้ว พวกเราก็มุ่งหน้าเดินทางกลับ
ไปยังที่พัก เก็บข้าวเก็บของ ออกเดินทางไปจ่ายสตางค์
ค่าที่หลับที่นอน แล้วก็ไม่พ้นเดินเตร่ๆ ไปเก็บภาพ
อีกสองสามภาพแถวๆถนนหน้าที่พักและหน้าที่ทำการอุทยาน
ก่อนจะออกเดินทางกลับไปยังจังหวัดพิษณุโลก
เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร ในวันรุ่งขึ้น



ผมชอบทัวร์ของคณะนี้อยู่อย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีใคร
รู้เรื่องราวหรืองวางแผนอะไรในระหว่างทางท่องเที่ยว
นี้เลยสักคนหนึ่ง บางทีขับๆไปเจอสถานที่ที่น่าสนใจ
ก็แวะดูสักหน่อย นัยว่า เพิ่มเติมความสนุกเข้าไประหว่างทาง
หนทาง ระยะทางนั้น ไปมั่ว ไปเดาเอาข้างหน้า
เคยมีครั้งหนึ่งจำได้ว่า ออกเดินทางจากกรุงเทพ ไปยังพิษณูโลก
ผ่านทางเพชรบูณ์ ปกติก็ไม่น่าจะเกินห้าหกชั่วโมง
ครั้งนั้นปาเข้าไปสิบสิบเอ็ดชั่วโมง ค่าที่ว่าเจอสถานที่น่าสนใจ
อยากแวะก็แวะ แวะคุยกันในปั๊มน้ำมันเสีย สี่ห้าหนก็แวะ
แวะชมนกชมไม้กลางทาง หลงทิศหลงท่า ก็หลายหน
ทริปนี้ก็เช่นกัน คนขับมองเห็นป้ายสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นมา
ทริปกลางทางก็จึงเกิดแทรกขึ้นมาทันใด และที่สำคัญ
ไม่มีใครค้านเสียด้วย อ้าว ไปก็ไปสิ

บ่อเหล็กน้ำพี้ คือเป้าหมายต่อไปของการเดินทางและ "แวะ"
ต่อไปก่อนจะมุ่งหน้ากลับบ้าน บ่อเหล็กน้ำพี้นี้ตั้งอยู่ในเขตอำเภอ
ทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ห่างจากถนนใหญ่ ราวๆยี่สิบห้ากิโลเมตร
เดินทางแค่สิบนาทีก็ถึง


ประวัติความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้มีอยู่ว่า บ้านน้ำพี้แห่งนี้
มีบ่อสินแร่เหล็ก ที่ในสมัยโบราณใช้เป็นตีดาบ ตีศาสตราวุธ ที่ทำ
มาจากเหล็ก ว่ากันว่าแร่เหล็กที่ขุดได้จากบ่อเหล็กบ้านน้ำพี้แห่งนี้
เป็นแร่เหล็กที่มีคุณภาพดีมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย
เมื่อนำไปตีเป็นดาบเป็นหอก จะมีความแข็งแกร่งทนทานมากเป็นพิเศษ
อีกทั้งยังมีบ่อเหล็กที่สงวนไว้อีกสองบ่อ คือ บ่อพระแสง และบ่อพระขรรค์
ที่เป็นบ่อที่มีแร่เล็กที่จะเก็บไปทำพระแสงดาบ แลพระขรรค์
สำหรับองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น ชาวบ้านร้านตลาด
ไม่สามารถใช้เหล็กจากบ่อนี้ได้



ก่อนตก

ตกได้เท่านี้เอง

กิจกรรมที่ผมเห็นว่าสนุกและสร้างสรรค์อย่างหนึ่งที่บ่อเหล็กน้ำพี้
แห่งนี้ก็คือ กิจกรรม "ตกเหล็ก" อาจฟังดูประหลาด แต่เป็นการเอา
เบ็ดตกปลา มาประยุกให้ตกแร่เหล็กแทน เอาเบ็ดตกปลาที่มีปลายเป็น
ก้อนแม่แหล็ก มาหย่อนๆลงไปในหลุมขุดแร่ ลากๆดึงขึ้นมา
สินแร่เหล็กก็จะติดก้อนแม่เหล็กขึ้นมา ใครตกได้
ก็เอากลับไปเป็นที่ระลึกได้ไม่ว่ากัน หยอดตู้บำรุงค่าบ่อ
ตามกำลังทรัพย์ไม่มีการบังคับ ผมหยอดลงไปสิบบาท
ตกได้เหล็กมาก้อนเท่าถั่วเขียว ตกใหม่อีกสามสี่ครั้ง
ก็ยังได้ขนาดไม่ได้ใหญ่มากไปกว่าเดิม ใจจริง
อยกจะตกให้ได้ขนาดเท่าสักลูกมะนาว น่าจะคุ้มสิบบาท
แต่ท่านเจ้าป่าเจ้าเขาเจ้าบ่อ คงแลเห็นความตระหนี่ของผม
จึงดลบันดาลให้ตกกี่ทีก็ได้อันนิดเดียว สุดท้ายก็หมดความอดทน
โยนทิ้งเลิกรากันไปโดยไม่ได้เอากลับมาสักก้อน เฮ้อ เสียดาย



หลังจากเลิกรากับการตกเหล็ก คณะของเราก็ออกเดินทางจากอำเภอ
ทองแสนขัน มุ่งหน้าเดินทางกลับบ้านที่พิษณุโลก เป็นอันสิ้นสุด
ทริปกลางคนของเราในครั้งนี้ ระหว่าทาง คณะของเราก็คุยกันถึงเรื่อง
ราวที่ผ่านมาอย่างสนุกสนาน แน่นอน ทุกครั้งที่มีการสิ้นสุดการเดินทาง
สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ๆก็มักจะถูกพูดถึงอยู่เสมอ
เพื่อเป็นการเติมเชื้อเพลิงพลังของชิวิต ให้อยากจะออกไปพบไปเจอ
กับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอนาคตข้างหน้า ไม่มีใครู้หรอกว่าวันเวลา อายุขัย
มันจะไปสิ้นสุดหยุดลงตรงวันไหน รู้แต่ว่าหากได้ไปเที่ยว
ความสุขที่ได้รับระหว่างทางมันมักจะช่วยเติมเต็มพลังใจ
และขับไล่ความทุกข์ ได้อยู่เสมอ เพื่อวันข้างหน้าจะได้มีกำลัง
ต่อสู้กับอะไรแย่ๆในชีวิตได้ต่อไป
"ไปให้รอบทุ่งรอบท่า" เถิดครับ ไปให้สมกับที่ยายผมว่าไว้แล้วจะดีเอง

สุขสดชื่นและสมหวังตลอดปี ๒๕๕๓ จงมีแด่ท่านผู้อ่านครับ
สวัสดีปีใหม่ครับ....


"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักไหม ยอดแหลม น่ะ ยอดแหลม

คุณเชื่อเรื่อง พรหมลิขิตไหม....

ดนตรีเศร้าหมองแห่งการบำบัด