ไปเก็บอดีต ที่ "อดีตเกือบเมืองหลวง"



"ในสมัยจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม เพชรบูรณ์เกือบได้กลายเป็นเมืองหลวง
แทนกรุงเทพมหานคร..." ข้อความนี้ผมได้อ่านมาจากประวัติของ
เมืองเพชรบูรณ์จากแหล่งค้นคว้าหลายๆแหล่ง ซึ่งอ้างตรงกันว่า
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยของเรา กำลังอยู่ในสภาวะ
สงคราม ประเทศไทยสมัยนั้นมีจอมพลแปลก พิบูลย์สงคราม
รั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ และนำประเทศเข้าสู่สงคราม
ช่วงนั้น กองทัพที่เข้ามาประชิดขอบขัณฑ์สีมาก็คือประเทศญี่ปุ่น
และในขณะนั้นเอง ดูเหมือนเราจะเลือกอยู่ฝั่งผิด ดันไปเลือกฝั่งญี่ปุ่น
ทำให้พี่เบิ้มฝ่ายสัมพันมิตรเกิดไม่พออกพอใจ
และเมื่อเพลากลางคืน พี่แกว่างๆไม่มีอะไรทำ ก็แอบเอาระเบิดมาหย่อนลง
กลางพระนครอยู่บ่อยๆจนถูกเรียกช่วงเวลาหย่อนระเบิดว่า สมัยหวอ
แล้วเมื่อถูกโยนระเบิดใส่กลางพระนครบ่อยๆเข้า จอมพลป. พิบูลย์สงคราม
ก็มีนโบบาย ย้ายเมืองหลวงหนีไปหาชัยภูมิที่เหมาะสมกว่ากรุงเทพ
นัยว่า จะเอาไว้เป็นป้อมบัญชาการ รบกับทางญี่ปุ่นอีกด้วย งงไหมครับว่า
ตกลงเราอยู่ข้างไหนกันแน่ ถ้างง แนะนำให้ไปหาประวัติศาสตร์ชาติไทย
สมัยสงครามโลกครั้งที่สองมาอ่านดู เหตุผลที่ท่านจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม
จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่เพชรบูรณ์ก็เพราะเห็นว่า มีชัยภูมิที่เหมาะสม
กับการตั้งรับมือกับทหารจากฝ่ายอื่น เนื่องจากเมืองมีภูเขาเป็นเกราะกำบัง
ล้อมรอบทุกด้าน ทำให้ยากแก่การเข้าโจมตี มีทางเข้าออกทางเดียวและยัง
เป็นประตูออกไปสู่อีสาน ที่สำคัญมีภูมิอากาศดี จนถูกขนานนามว่า
"สวิสเซอร์แลนด์เมืองไทย" เลยทีเดียว ที่สำคัญ ชื่อของจังหวัดได้ถูกตั้งเอาไว้
ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้วเสียด้วยว่า "นครบาลเพชรบูรณ์"
แต่จนแล้วจนรอดสุดท้าย สภาผูแทรราษฎรก็ลงมติมีความเห็น
ไม่ย้ายเมืองหลวงไปไหน เพชรบูรณ์จึงกลายเป็น จังหวัดเพชรบูรณ์สืบมาจนบัดนี้

สืบต่อเนื่องเวลามาอีกนานโข พี่สาวใจเด็ดคนหนึ่งของผม ซึ่งปกติ
มีนิวาสสถานอยู่ที่เมืองหลวงกรุงเทพฯ พี่สาวประกอมสัมมาอาชีพ
เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยหลายๆแห่งในกรุงเทพ
ซึ่งก็ได้มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพมาตามปกติช้านาน จู่ๆพี่ลุกขึ้นมาย้าย
ตัวเองออกจากเมืองหลวงกรุงเทพ ไปอยู่ยังเพชรบูรณ์อดีตเกือบจะเป็น
เมืองหลวงขึ้นมาเสียดื้อๆ ทั้งๆที่ก็ยังไม่ได้มีสงครามอะไรมาเข้ากรุงเสียหน่อย
ถามไปถามมาก็ไม่ว่ากันเพราะพี่สาวคนนี้เป็นนักอุดมการณ์ที่น่านับถือ
หาตัวจับยากคนหนึ่งทีเดียว ลำบากลำบนไม่เป็นไร ขอให้มีความสุข
ในงานที่ทำ และได้ทำงาน เป็นใช้ได้ เอา ไม่ว่ากัน ตามนั้น




วันหนึ่งเมื่อช่วงเดือนเมษาที่ผ่านมา พี่ได้มีโอกาสเข้ามาที่กรุงเทพ
เนื่องด้วยเป็นช่วงปิดเทอม ไม่มีการเรียนการสอน
เมื่อมาพบปะกันพี่จึงเปรยๆให้ผมกับน้องชายหมายเลขห้าได้ฟังว่า
อยากจะได้รูปถ่ายของจังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
รวมถึงรูปปกติทั่วๆไปของจังหวัดเพชรบูรณ์ พวกเธอทั้งสองคน
จะสามารถจัดเวลาว่างไปถ่ายให้ได้หรือเปล่า... แหม แบบนี้ก็เข้าทางสิครับ
เรื่องเที่ยวเรื่องทัวร์นี่ผมจัดหาเวลาให้พี่ได้เสมอ ขออย่างเดียวมีที่หลับที่นอน
อาหารดีๆสี่ซ้าห้ามือ ต่อวัน รับรองพี่ไม่ผิดหวัง แล้วจะจัดให้อย่าง
เป็นกรณีฉุกเฉินเลยเชียวครับ

ห่างจากวันที่รับปากไม่ถึงเดือน คณะทัวร์วัยกลางคนประกอบไปด้วย
สามวัยกลางคน กับหนึ่งวัยรุ่นระยะสุดท้าย ก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่เพชรบูรณ์
อดีตเกือบเมืองหลวงของประเทศไทย โดยวันที่เราเลือกไปนั้น เราเลือกที่จะไปวัน
ธรรมดาเพื่อหลีกเลี่ยงอาการแย่งกันกิน แย่งกันเที่ยวของวิสัยคนไทย
ซึ่งไปไหนในวันหยุดทีไร สถานที่ท่องเที่ยวจะกลายเป็นลานจอดรถและ
ลานคนเดินไปทันตาเห็น อยากรู้ว่าที่ผมเล่ามาเป็นอย่างไร หาดูหาทดลองได้
ทุกวันเสาร์เย็น ตลาดอัมพวา สมุทรสงคราม
แล้วท่านจะเลิกอยากไปอัมพวา วันเสาร์อีกเลยเชื่อผมสิ


พวกเราตื่นแต่เช้าวันอังคาร ออกรถมาเรื่อยๆเปื่อยๆ ไม่เร็วนัก
บนถนนสายสระบุรี หรือที่เรียกว่าถนนพหลโยธิน งานแรกที่ต้อง
ไปถ่ายภาพก็คือ"เมือเก่าศรีเทพ" ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรก
เมื่อเข้ามาสู่เขตจังหวัดเพชรบูรณ์ เมืองเก่าศรีเทพนี่ ผมได้ฟังยินเรืองราว
มาแต่ช้านาน แต่ก็ยังไม่มีโอกาสมาสัมผัสของจริงเสียที มาคราวนี้ผมจึง
ค้นคว้าหาข้อมูลประกอบการทำงานมาเสียเยอะแยะ
เพื่อให้รู้ก่อนล่วงหน้าเลยว่าควรจะถ่ายภาพอะไร ตรงไหน
จะได้ไม่เสียเวลา

เมืองเก่าศรีเทพ เป็นอดีตอารยะธรรมที่เก่ามากมาก
ไล่ย้อนหลังไปได้ถึงสมัยขอมทวาราวดี ศรีวิชัยเรืองอำนาจ
ซึ่งนั่นก็ราวๆ หนึ่งพันปีล่วงมาเห็นจะได้ เมืองเก่าแห่งนี้ถูกค้นพบ
โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในราวพุทธศักราช
2447-2448 ครั้งเสด็จไปตรวจราชการมณฑลฝ่ายเหนือ
แลเพชรบูรณ์ และได้ทรงตั้งชื่อเมืองโบราณที่ทรงค้นพบแห่งนี้ว่า
"เมืองศรีเทพ"

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ



คณะของเรามาถึงเมืองศรีเทพราวๆตะวันตรงหัวพอดี
อากาศที่เพชรบูณ์ในตอนนี้ผมรู้สึกว่า มันคงเป็นอากาศ
"สวิสเซอร์แลนด์ตอนช่วงหน้าร้อนที่สุด" มากกว่า
เพราะอากาศที่นี่ก็ร้อนไม่ต่างจากกรุงเทพเท่าไหร่นัก
และนั่นก็ทำให้คณะวัยกลางคนของเราต้องอาศัยเดินหลบๆ
ตามเงาไม้ และอาศัยหามุมเหมาะๆร่มๆชักภาพอยู่บ่อยๆ
เพราะหากฝืนออกไปเดินกลางแดดผ่าตะวันแบบนี้
มีหวังเป็นลมเป็นแล้งตายเป็นผีเฝ้าโบราณสถานเป็นแน่แท้








ตอนที่คณะเราเดินทางไปถึงเมืองศรีเทพ ฝนคงเพิ่ง
จะขาดเม็ดไปได้ไม่นานนัก รู้ได้จากอากาศที่มีกลิ่นดินหอมๆ
อบอวลอยู่ ทั้งดินที่เราย่ำไปมานั้นก็ยังนุ่มๆอยู่ สัญชาติญาณ
นักล่าสมบัติ(อันนี้ไม่ดีจริงๆ ผมไม่ชอบตัวเองตรงนี้แหละ)
มันกระตุกวาบขึ้นมาในสมองว่า หลังฝนตก ของจะผุด
ไม่รู้เหมือนกันว่าผมไปได้ยินวลีนี้มาจากไหน แต่ที่แน่ๆ
มันทำให้ผมเลิกสนใจกับการเก็บภาพไปพักหนึ่ง
แต่หันมาก้มหน้าเดินช้าๆ สายตาสอดส่องไปตามพื้นดิน
เพื่อมองหา"ของ" ที่ จะโผล่พ้นดินขึ้นมา
"ของ" ที่ว่าก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ
ก็คงเป็นพวกเศษวัตถุโบราณ ถ้วยถังกะละมังแตกๆ
รวมไปถึงหากว่าโชคดี เจอเป็นชิ้นเป็นอัน ผมคงดังน่าดู
ใช้เวลาก้มๆเงยๆ ไม่นาน ผมก็พบกับเศษของ "อะไร"
บางอย่าง รูปร่างเหมือนหูจับของหม้อดิน
ทำจากดินเผาสีเข้มๆ ชิ้นประมาณเท่าหัวแม่โป้ง
ผมยืนเพ่งพินิจดูวัตถุชิ้นนั้นอยู่ไม่นาน ก็เดินก้มหน้าต่อ
แล้วก็ไปเจอเอาเศษกระเบื้องดินเผามีลวดลายอีกหลายชิ้น
กระจายอยู่เกลื่อนกลาดไปบนพื้น หยิบมาล้างๆดู
ก็เห็นเป็นลวดเป็นลายขึ้นมาได้บ้าง
สักพักเมื่อเก็บไปได้สี่ห้าชิ้น ในใจก็คิดว่า เอากลับไปเป็น
ที่ระลึกน่าจะดี แต่ยังไม่ทันจะเก็บเอาเข้ากระเป๋า
ลมเย็นๆ วูบเดียวที่พัดผ่านตัวไป เล่นเอาผมเย็นวาบ
ไปถึงหนังหัว ครับ ผมเอาวัตถุห้าชิ้นนั้นโยนไปตามทิศต่างๆ
โดยไม่ต้องคิดอะไร อืม เจ้าของเขาคงหวงจริงๆ
เข็ดแล้วครับ ให้ตายสิ...






หลังจากที่เลิกสนใจวัตถุโบราณตามพื้นดิน ผมก็มุ่ง
ไปสนใจกับการเก็บภาพถ่ายของเมืองศรีเทพต่อ
ณ จุดหนึ่งที่เรียกว่าถนนโบราณ ผมนึกอยากรู้ว่า
การที่คนโบร่ำโบราณ นำเอาก้อนแลง(หินชนิดหนึ่ง)
มาปูทอดยาวไปเป็นระยะทางไกลโพ้นเป็นกิโลๆ
จะรู้สึกอย่างไร เมื่อต้องเดินด้วยเท้าเปล่า ผมก็จัดแจง
ถอดรองเท้าเดินดูบ้าง ปรากฏว่า
เต็มที่เลยไม่เกินเจ็ดก้าวผมก็ต้องรีบใส่รองเท้า
คืนทันที เพราะมันทั้งแหลม ทิ่มตำ และ เจ็บ นับว่า
คนโบราณนี่มีความอดทนอย่างมาก
ที่สามารถเดินบนถนนหินแลงแบบนี้ได้ เอ๊ะหรือว่า
สมัยนั้นมีรองเท้าใส่กันแล้วหว่า ชักไม่แน่ใจแล้วสิผม








จะว่าไปแล้วทริปนี้มีสิ่งที่ผมตั้งใจมากที่สุดอยู่แห่งหนึ่งว่า
ต้องมา "กิน" ให้ได้ทุกครั้งไปเมื่อมาถึงเพชรบูรณ์
นั่นคือ การมากินไก่ย่างชื่อดังแห่งอำเภอวิเชียรบุรี
ซึงถ้าปกติแล้วท่านผู้อ่านได้สังเกต จะพบว่า
ไก่วิเชียร หรือไก่ย่างวิเชียรบุรีนี้ จะพบได้เกือบ
ทุกทั่วหัวระแหงของประเทศไทย ทั้งๆที่ของแท้ออริจินัล
จะมีแค่แห่งเดียว คือที่อำเภอวิเชียรบุรี เพชรบูรณ์นี่
จริงๆผมก็ไม่ได้เป็นคนชอบกินไก่ย่างมากมายเท่าไหร่
แค่กินๆไปตามความหิวก็ถือเป็นปกติ แต่ถ้าเจอไก่ย่าง
วิเชียรบุรีแล้ว ต้องขอบอกว่าผมอยากจะย้ายมาอยู่ข้างๆ
ร้านเสียด้วยซ้ำ เพราะมีการจัดอันดับอาหารประเภทไก่ย่าง
เอาไว้ในสามลำดับแรกที่ต้องกินให้ได้ก่อนตาย ไก่ย่าง
วิเชียรถือเป็นอันดับสองในสามไก่ย่างนั้น
ส่วนอันดับหนึ่งอันนี้ผมแค่เคยได้ยินแต่ชื่อคือ
"ไก่ย่างเขาสวนกวาง" ขอนแก่น ที่ถือเป็นปรมจารย์
ด้านย่างไก่แห่งประเทศไทยอยู่ที่ขอนแก่น ว่างๆต้องหาโอกาส
ไปลองชิมดู






ด้วยความหอม นุ่มลิ้น หนังกรอบ แห้ง ไม่มีน้ำมันเยิ้ม
และเนื้อที่ละเอียด รสชาดละมุน ไม่แข็งไม่ยุ่ยจนเกินไป
ขนาดของไก่ตัวไม่ใหญ่มาก ผมไม่แปลกใจเท่าไหร่
ที่ไก่ย่างวิเชียรบุรี จะถูกเอาขโมยชื่อไปปลอมขายตามพื้นที่
ทั่วๆไปในประเทศไทย แต่อย่างว่า ของจริงๆ คนรู้จริงจะบอกว่า
ของจริงต้องตราตาแป็ะ ใส่ถุงกระดาษ เท่านั้น
ร้านตาแป็ะนี่ถ้าท่านอยากชิมขอบอกว่าไม่ได้อยู่ริมถนน
พหลโยธินนะครับ ของตาแป็ะจะอยู่ริมถนนทางเข้า
ตัวอำเภอวิเชียรบุรี ถ้ามุ่งหน้าจะไปเพชรบูรณ์โดยมาจาก กทม.
ต้องไปกลับรถมาก่อน แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไป ทางที่มุ่งหน้าไป
ตัวอำเภอวิเชียรบุรี พอเลี้ยวปุ๊บ สังเกตทางซ้ายมือทันทีไม่เกิน
หนึ่งร้อยเมตร จะพบร้านไก่ย่างตาแป็ะ หาที่จอดรถได้เลยครับ
สั่งมาสองตัว เพื่อรสสัมผัสด้วยตาและลิ้นของท่าน
จะได้จดจำได้ว่า ไก่วิเชียรแท้ กับวิเชียรปลอมต่างกันอย่างไร


จบมื้อเที่ยง เราก็มุ่งหน้าวิ่งยาวเข้าสู่เพชรบูรณ์ โดยวันแรก
ก็ไม่ได้มีอะไรให้ทำแล้วเพราะเมื่อไปถึงเย็นย่ำ
และด้วยความเหนื่อยอ่อนจากการเดินทาง หลังจาก
ที่พี่าวพาไปตระเวนกินและพาชมเมืองเพชรบูรณ์ยามค่ำคืน
วันนั้น เมื่อหัวถึงหมอน ผมก็ฝันว่ากำลังชิมไก่ย่างวิเชียรบุรี
อยู่อย่างเอร็ดอร่อย...

เช้าวันที่สอง ผมอิดๆออดๆกับการตื่นขึ้นมาเช้าๆเพื่อไปหา
อะไรรองท้อง พี่สาวแต่ตัวเรียบร้อยตั้งแต่เจ็ดแปดโมง
แล้วก็รอให้คณะทัวร์ทำงาน ตื่นขึ้นมาแปรงฟัน แล้วจับรถ
เข้าตลาด ทั้งๆน้ำท่าก็ยังไม่ได้อาบแป้งก็ยังไม่ได้ทา
ตอนเช้าของตลาดตัวเมืองเพชรบูรณ์นี่ก็คงเหมือนตลาด
เช้าตามต่างจังหวัดทั่วๆไป ร้านค้าไหนที่อร่อยขึ้นชื่อ
เห็นพี่บอกว่าบางเจ้านี่หมดตั้งแต่ตะวันยังไม่พ้นฟ้า
เพราะคนที่นี่ตื่นกันแต่เช้า กิจกรรมของวัน
เขาเริ่มกันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า ไม่ใช่แปดเก้าโมง
แบบชีวิตใน กทม. เอ่อ เหมือนโดนด่ายังไงไม่รุ้

เช้านั้นมีร้านโจ๊กร้านเดียวที่พอเหลือให้พึ่งพาได้
เพราะคนอื่นเขาตื่นมากินของอร่อยๆกันหมดแล้ว
เหลือแต่ไอ้ที่อร่อยแต่กินไม่อิ่มนี่แหละ ผมเลยต้องกิน
ประทังไปก่อนพอหายหิว

พอสายๆเราก็เริ่มออกเ้ดินทางต่อไปยังเขตอำเภอหล่มเก่า
เพื่อไปตามหาวัดโบราณแห่งหนึ่ง ซึ่งจุดประสงค์หลักของ
การมาทัวร์ทำงานทริปนี้ ก็อยู่ที่วัดแห่งนี้เป็นหลัก เนื่องด้วย
พี่สาวต้องการภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดโบราณแห่งนี้
ไปทำรายงานอะไรสักอย่าง ซึ่งผมก็ไม่ได้ถามรายละเอียด
ตรงนั้น รู้แต่คร่าวๆว่าเป็นวัดสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา
ก็ตื่นเต้นจะแย่อยู่แล้ว เราขับรถวนๆหลงๆอยู่สักพักสองพัก
เนื่องด้วยไม่คุ้นทางและด้วยความที่แผนที่ที่พี่สาวอีกท่านหนึ่ง
เขียนให้อย่างรีบๆ เราจึงต้องจอดรถเพ่งแผนที่กันเอาเอง
อยู่หลายรอบ กว่าจะคลำทางมาถึงวัดในที่สุด
วัดนาทราย หรือวัดศรีมงคลแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่อำเภอหล่มเก่า
ห่างจากตัวอำเภอไปทางฝั่งตะวันตกไปราวๆสามกิโลเมตร
"วัดนาทรายเป็นวัดเก่าแก่ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เนื้อที่ประมาณสามไร่เศษ หลวงพ่อโง้ง
เจ้าอาวาสองค์แรกและชาวบ้านตั้งชื่อว่า วัดทรายงาม แต่ต่อมา
เปลี่ยนชื่อเป็นวัดนาทราย และวัดศรีมงคลในเวลาต่อมา"






ลักษณะของตัวอุโบสถไม่มีลวดลาย
อะไร มีแต่สีขาวๆ ทาทาบอยูรอบๆ
เป็นศิลปะผสมๆ เท่าที่ดูด้วยตา
ก็เป็นแบบภาคกลางผสมไปทางอีสาน โดยเฉพาะคันทวย
ที่ทำจากไม้แสดงลักษณะนาค ที่ค่อนไปทางอีสานทั้ง
รูปร่างและลวดลาย แต่สิงที่ผมได้รับมอบหมาย
ให้มาเก็บบันทึกภาพออกไปคือ "...จิตรกรรมฝาผนัง
ที่อยู่รอบภายในโบสถ์ ซึ่งยังคงมีความสมบูรณ์มากที่สุด
ในบรรดาภาพยุคเดียวกัน ตามประวัติจากทางวัด
ภาพถูกเขียนโดยนายแดงหรือตาขี้ทูต
ใช้เวลาเขียนนานสามปีเศษ ได้รับค่าจ้าง
หนึ่งชั่งสี่ตำลึง ลักษณะของภาพเขียนสื่อถึงเรื่องราวของ
พระเจ้าสิบชาติ มีศิลปะจีนเข้ามาผสมผสาน..."
"...ใช้สีฝุ่นผสมกาวยางไม้ สีเปลือกดินและสีดิน ระบายภาพ
ตัดเส้นแบบแบน เขียนภาพบนฝาผนังปูน..."



หลังจากที่ผมวนๆเวียนๆเก็บภาพภายนอกสักพักใหญ่ ก็ได้เวลาเข้าไป
เก็บภาพด้านในอุโบสถ ซึ่งถือเป็นงานหลักของทริปนี้จริงๆ
หลังจากไขกุญแจประตูอุโบสถ ผมออกแรงผลักประตูให้ค่อยๆ
เคลื่อนออก เสียงลั่นครืดคราดของประตู เล่นเอาผมใจแกว่งๆ
ไปเหมือนกัน แล้วแสงแรกที่ลอดออกจากประตูก็เข้าไปทาบ
ที่บริเวณใบหน้าของพระพุธรูปที่เป็นพระประธานในอุโบสถ
ทำเอาผมตื่นเต้น เพราะความงดงามและความสมบูรณ์
ของพระพุทธรูปและความงดงามของแสง ที่ตกกระทบ
ผมนับถือความรู้และวิทยาการของคนโบราณจริงๆ
ที่สามารถนำเอาธรรมชาติ เข้ามาเชื่อมโยงกับวัตถุได้อย่างลงตัว
หลังประตู กลิ่นเก่าๆจากอดีตจางๆลอยสวนออกมาจางๆ
ผมค่อยๆเดินไปเปิดหน้าต่างของอุโบสถทีละบานๆ
แสงที่ฉายเข้ามาค่อยๆเผยให้เห็นความงดงาม
ของภาพเขียนบนฝาผนัง ที่ยังคงความสมบูรณ์
มากกว่าแปดสิบถึงเก้าสิบเปอร์เซนต์ ซึ่งโดยปกติ
หากเป็นจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยเดียวกันกับอยุธยา
ถ้าไม่ผ่านการซ่อมแซมมาแล้ว ก็มักจะหาความสมบูรณ์
แทบมิได้เลย...

เครดิตภาพบางรูปมาจากกล้องน้องชายหมายเลขห้า
ขอบคุณมากๆครับ

ขาตั้งกล้องสองอันถูกกางออก กล้องสี่กล้องถูกใช้คนละวัตถุประสงค์
สองกล้องเก็บภาพภายนอก อีกสองกล้องเก็บภาพจิตรกรรมภายใน
ตัวผมเองใช้เลนส์ค่อนข้างมีกำลังดึงสูง เรียกว่าเลนส์ซูม
จึงสามารถมองเข้าไปดูใกล้ๆ ภาพเขียนแต่ละช่องได้อย่างชัดเจน
แล้วความสวยงาม ความปราณีบรรจงจากอดีตของครูช่างแดง
ผู้วาดภาพเขียนชุดนี้โดยใช้เวลาถึงสามปีก็ปรากฏออกมาทีละน้อยๆ
แล้วผมเก็บบันทึกเข้ามาไว้ในหน่วยความจำของกล้อง
และหน่วยความจำของสมองภายในเวลาราวๆสองชั่วโมง














หลังจากที่งานเสร็จสิ้นผมก้มลงกราบพระประธานในพระอุโบสถ
แล้วอฐิษฐานในใจเงียบๆว่า ผมขอให้ได้มาเที่ยวชมที่นี่อีกสักหน
และหวังว่าวัดแห่งนี้ คงจะมีความเจริญเข้ามาบ้าง มากกว่าที่เป็นอยู่
เพื่อว่าทางวัดจะได้มีทุนทรัพย์เข้ามาจุนเจือดูแลรักษาทั้งอุโบสถ
และทั้งภาพเขียนเหล่านี้ไว้ให้ลูกหลานได้ดูภายภาคหน้า
อีกทั้งยังเป็นการสืบต่ออายุของพุทธศาสนา
ให้ยืนยาวออกไปได้ตราบนานเท่านาน

เสร็จจากงาน ท้องก็ร้องหาอาหารเที่ยง ที่หล่มเก่านี่จะว่าไป
ผมก็มาหลายหนแล้ว และอาหารประจำ ที่ต้องถ่อกันมา
กินก็คือ ขนมจีนป้าสินรอง ขนมจีนชื่อดังแห่งอำเภอหล่มเก่า
จะว่าไปขนมจีนแบบ แกงสามหม้อนี้ มีอยู่หลายเจ้า
พิษณุโลก เองก็มีตั้งแต่สามหม้อไปถึงเจ็ดแปดหม้อ
ส่วนตามเบี้ยใบ้รายทางในหล่มเก่านี้ ก็เห็นจะมีอีกอักโขไป
แต่เจ้าที่คุ้นๆกันมานาน ก็เห็นจะเป็นเจ้าป้าสินรองนี่แหละ
ที่มาทีไรต้องมากินร้านนี้ทุกที




ขนมจีนป้าสินรองนี่เป็นขนมจีนเส้นสดครับ
บีบเส้นกันสดๆให้เห็นกับตาเลยทีเดียวว่าสดจริง
พอบีบลงหม้อปุ๊บก็จับขึ้นมา เป็น "จับ" กลมๆ
ไม่เหมือนทางฝั่งภาคกลางที่จับมาแล้วเป็นทรงยาวรีๆ
จากนั้นจะวางไว้ในจานหนึ่งจานมีสี่จับพอคำ ส่วนน้ำแกงจะมี
สามหม้อ แกงป่า น้ำพริก น้ำยา น้องชายคนหนึ่งเอ่ยปาก
บอกผมว่าให้กินแต่น้ำยาเยอะๆ อย่ากินอย่างอื่น
จะได้มีลูกมีเต้ากับเขาเสียที แหม อยากถวายผาง
ส่วนเครื่องเคียงก็จะมีผัก ตามปกติของขนมจีน
ใบแมงลัก ผักกาดดอง ถั่วงอก และอีกอย่างสองอย่าง
แถมมีกุนเชียงเสียบไม้ ใข่ต้ม แหนมสด ไว้ใส่เพิ่มรส
เพิ่มชาดให้ขนมจีนจานนี้อีกด้วย ส่วนของแก้เผ็ด
แก้ชาปาก ก็ยังมีเมี่ยงคำเสียบไม้ที่คุณยาย
ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าคือป้าสินรองหรือเปล่า นั่งห่อ
แล้วเสียบเข้าไม้เอามาให้เรากินได้อีกอย่างหนึ่ง
บ่ายวันนั้นเราจึงกินกันเสียเต็มที่ เพื่อเป็นการ
ตุนเสบียงเตรียมเดินทางต่อไป






จริงๆหลังจากถ่ายภาพที่วัดนาทรายนี่เสร็จแล้วก็ถือว่างานหลัก
เป็นการสิ้นสุดเรียบร้อยไป ที่เหลือ ก็เป็นแผนการที่
พี่สาววางไว้ว่าจะพาไปนอนที่เขาค้อเสียหนึ่งคืนเพื่อเป็น
การตอบแทนกัน อ่า ดีใจจริงๆ
เกิดมาผมก็ยังไม่เคยจะได้ไปเขาค้อกับเขาเลย
เคยแต่ข้ามผ่านไปมาระหว่าเพชรบูรณ์ และพิษณุโลก
คราวนี้จะได้มีโอกาสได้ "นอนเขาค้อหนึ่งคืน อายุยืนหนึ่งปี"
ตามสโลแกนของจังหวัดกับเขามั่งแล้ว


เส้นทางบนเขาค้อนี่ถือว่ายังไม่ค่อยวกวนมากมายเท่าไหร่
แต่กว่าจะขึ้นไปยังเขตพระตำหนักเขาค้อและอนุสรณ์สถาน
ของทหารหาญผู้เสียสละในการรบกับคอมมิวนิสต์
ก็เล่นเอาผมวิงเวียน คลื่นใส้ใกล้อาเจียรได้หลายหน





ประวัติศาสตร์ของเขาค้อนี่ก็ว่าย้อนกันไปราวๆช่วงปี
2511-2515 เมื่อประเทศไทย ยังคงมีระบอบคอมมิวนิสต์
เข้ามาแผงอยู่ภายในประเทศ รัฐบาลจึงต้องทำการออกปราบปราม
ระบอบคอมมิวนิสต์ให้หมดไปจากประเทศไทย
โดยใช้กำลังทหารเข้าต่อสู้ ซึ่งมีการศูนย์เสียกำลังทั้งทหาร
ตำรวจ ข้าราชการ และพลเรือน ไปหลายสิบหลายร้อยนาย
กว่าที่ระบอบคอมมิวนิสต์จะพ่ายแพ้ไปจากประเทศไทย
และสิ่งที่หลงเหลือไว้ก็คือ เศษซากของความสูญเสียจากอดีต
ซึ่งหากท่านไปเยือนเขาค้อแล้วก็อย่าลืมแวะไปดูไปชมภาพ
จากอดีตการสู้รบของคนไทยกันเอง ในสมัยที่เรายังไม่สามารถ
ตกลงกันได้ว่าเราควรอยู่กันแบบไหน แบบเท่าเทียมกันทุกคน
ที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์ หรือแบบต่างคนต่างแก่งแย่งกันยืน
ใครดีใครอยู่ ภายใต้คำจำกัดความของระบอบที่เรียกว่า
"ประชาธิปไตย"









ข้อเสียของช่างภาพมือสมัครเล่นอย่างหนึ่งอย่างผมคือ ขี้เกียจและ
ไม่ชอบถ่ายภาพทุกอย่างที่เห็น เพราะการล้วงเอากล้องที่มีขนาด
ใหญ่และน้ำหนักประมาณหนึ่งเข้าๆออกๆ จากกระเป๋านี่
จึงเป็นเรื่องน่ารำคาญใจพอสมควร ดังนั้นไอ้จังหวะดีๆ ช่วงแสงงามๆ
มันมักจะพลาดข้ามไปบ่อยๆ บนเขาค้อนี่ก็เหมือนกัน ภาพรถถัง
เครืองบิน เฮลิคอปเตอร์ และยุทธภัณฑ์อีกหลายอย่าง
ที่ผมน่าจะถ่ายภาพเก็บไว้ ก็กลายเป็นว่าไม่ได้ถ่าย แค่มองๆ
ดูด้วยตาเปล่า แล้วหยิบๆจับๆสัมผัสเอาก็พอแล้วสำหรับผม
ส่วนอีกสามช่างภาพนั้นก็กำลังขมักเขม้นก้มหน้าถ่ายภาพกันไป
ตามประสาช่างภาพที่ดี

สิ้นวันนั้นเราเข้าพักที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งที่เขาค้อ เป็นรีสอร์ตระดับ
สามสี่ดาว ที่พี่สาวจัดแจงหาไว้ให้พักผ่อน ก่อนจะเดินทางไกล
กลับไปยังกรุงเทพมหานครในวันพรุ่งนี้
บรรยากาศภายในรีสอร์ตเป็นที่ถูกอกถูกใจผมมาก มันเย็น
สบาย สดชื่นอย่างบอกไม่ถูก ลมเย็นๆพัดโชยถูกตัว
อยู่ตลอดเวลา ผมแอบออกไปยืนสูดอากาศ
ตอนกลางคืนให้เต็มปอดอยู่หลายนาน กว่าจะกลับเข้ามานอน
และก่อนหลับไปผมก็ครุ่นคิดไปว่า อดีตของเขาค้อ
ที่กว่าจะกลายมาเป็นรีสอร์ตให้ได้พักกันสี่ดาวห้าดาวนั้น
จะมีทหารเสียเลือดเสียเนื้อตั้งมากมายเท่าไหร่ เพื่อพิทักษ์
ผืนแผ่นเขาสูงแห่งนี้เอาไว้ให้ลุกหลานได้อยู่กันมาจนถึงทุกวันนี้
แล้วผมก็ไม่ลืมที่จะยกมือขึ้นพนมทั้งๆหลับตาอยู่
ขอขอบพระคุณดวงวิญญาณทั้งหลายเหล่านั้น
ที่ช่วยป้องกันและปกปักรักษาให้ประเทศไทยของเรา
อยู่รอดมาได้จนกระทั่งมีผมมานอนเล่นสบายใจอยู่ตรงนี้
แล้วสิ่งที่ทำให้ผมทราบว่าดวงวิญญาณของท่านเหล่านั้น
คงรับรู้ได้ถึงสิ่งที่ผมได้บอกได้กล่าวขอบคุณไว้ก็คือ
เสียงฟ้าร้องในค่ำนั้น และฝนที่ตกอย่างชุ่มฉ่ำหลังจาก
ที่ผมหลับไหลตลอดคืน.....






................................................

ขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านมาจนจบนะครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักไหม ยอดแหลม น่ะ ยอดแหลม

คุณเชื่อเรื่อง พรหมลิขิตไหม....

ดนตรีเศร้าหมองแห่งการบำบัด