ในเพลงมีภาพ ในภาพมีเพลง


       
       นานมากที่ผมเรื้อรังจาการไปเที่ยวและการเขียนจุกๆจิกๆ
เรียกว่าปีที่แล้วทั้งปี ยันเดือนเมษาคือเดือนที่จบเรื่องราวนี้
ยังไม่มีรายการท่องเที่ยวรายการใดเข้าตามาพอให้เกิดแรงบันดาลใจ
ในการเขียนเรื่องราวอันเป็นที่น่าสนใจได้เลยสักรายการเดียว
เฮ้อ ไม่โดนใจวัยกลางคนว่าอย่างนั้น

แต่พอมาเมื่อคืน กำลังเคลิ้มๆจะหลับ เสียงรายการทีวีรายการหนึ่ง
ซึ่งเป็นรายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ที่ดูเหมือนจะเป็นรายการดาษๆทั่วไป
ตามช่องทีวี มีเสียงครวญเพลงที่ทำให้ผม ต้องลืมตาตื่นจากอาการกำลังจะหลับ
และลุกมานั่งดู น้องคนหนึ่ง ซึ่งกำลังขับร้องเพลงที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิต
เสียงของน้องนั่นเรียกว่าถ้าใช้เวลา "เกลา" สักนิด
อนาคตนี่น่าจะเทียบเคียงได้กับดาวรุ่งอย่างไม่ต้องสงสัย
เพลงที่น้องเขาร้องเป็นเพลงที่มีเนื้อหาใจความท่อนหนึ่งว่า....

"ลม จูบลูบไล้ข้าวรวง จนเม็ดข้าวร่วง ทำเอาทรวงเราเสียว
นึกถึงวันฉันอยู่คนเดียวหนุ่มในเมืองมาเกี้ยว แล้วขอจูบที"

กับอีกท่อนว่า

"มอง ข้าวใบเรียว ลมไล่จูบกราวเกรียว เสียวตรงแก้มซ้ายเรา"

โดนครับ มันเป็นท่อนเพลงที่เรียกว่ากระแทกใจครับ
คืนนั้นผมเปิดอินเตอร์เน็ตใช้เวลาควานหาเพลงนี้อยู่ไม่เกินสิบนาที
ผมก็หาเพลงที่ว่านี้ออกมาจนได้
แล้วก็ฟังวนๆอยู่สักสองสามเที่ยว จนร่วงหลับไป

เช้าวันนั้นผมก็เอาเจ้าเพลงที่ว่ามาฟังอีกสองสามรอบในรถระหว่างทางไปทำงาน
ผมก็เริ่มจะเห็นภาพในใจแล้วว่า ท่อนเพลงที่ว่ามันโดนใจ ถูกใจผมตรงไหน
ก็คงเป็นเพราะผมเคยเห็นภาพแบบนั้นนั้นแหละ
เฮ้ย อย่าคิดไปมากมายถึงขนาดมีไอ้หนุ่มที่ไหนหรือใครมาขอจูบ
ทีที่แก้มซ้ายผมกลางทุ่งนานะครับ ฟ้าจะผ่าตาย ไม่ใช่อย่างนั้น
แต่เป็นภาพที่ผมเคยเห็นเมื่อกาลกาเลมาแล้ว ที่ว่า

ลม จูบลูบไล้ข้าวรวง จนเม็ดข้าวร่วง กับ
มองข้าวใบเรียว ลมไล่จูบกราวเกรียว
ต่างหาก นี่แหละ ที่ผมเคยเห็น....





เพลงที่มีสองวรรคทองในดวงใจที่ว่านี้คือเพลง จูบแล้วลาครับ
เพลงนี้ถูกนำไปร้องโดยศิลปินหลายๆท่าน แต่ต้นฉบับเดิมที่ผู้แต่ง
คือท่านครู ลพ บุรีรัตน์ แต่งไว้ให้กับราชินีลูกทุ่งตลอดกาล
คือ แม่ผึ้ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้ขับร้อง เพลงนี้เป็นเพลงที่ถ้าใคร
เป็นเด็กบ้านนอกเยี่ยงผมแล้วได้ฟัง ผมว่าอาจมีอาการน้ำตาซึม
ขึ้นมาได้เทียวนะครับ เพราะถ้าเด็กบ้านนอกคอกตื้อแท้ๆแล้ว
ต้องเคยเห็น ลมไล่ใบข้าว แบบผมมาก่อนแน่ๆ
ลมไล่ใบข้าว หรือลม ไล้ ใบข้าวนี่
มันไม่ได้หาดูกันง่ายๆนะครับ ตอนผมยังเป็นเด็กๆ หน้านา
หรือหน้าทำนาของชาวนา ที่ผมว่ามันสวยมาก
และชวนประทับใจนั้น จะมีอยู่สองห้วงเวลา คือช่วงแรกราวๆเดือนธันวาคม
ช่วงที่ข้าวยังไม่ตั้งท้อง ไม่ออกรวงช่วงนั้นทุ่งข้าวและท้องนาทั้งหมด
จะมีความเขียวขจีแลดูสดใสไปทั่วยามยืนหยุดมอง



สมัยสักสามสิบปีทีแล้วตอนผมยังอยู่อยุธยาในช่วงเรียนประถม
ตอนเย็นๆสักสี่ซ้าห้าโมงหลังเลิกเรียน
เด็กๆอย่างเราจะไปนั่งเล่นกันตามชายคันนา หานู่นหานี่ทำตามประสา
บางทีก็คอยนั่งดูปลาปากบ่อ ที่มันมักจะไหลมาตามน้ำ
ก่อนที่มันจะกระโดดออกไปลงคลองชลประทาน
ช่วงเวลาเย็นๆนั้น แดดจะเป็นสีส้มๆไม่ร้อนร้ายมากนัก
กอดอกหางหมาเมื่อจับกับแดด จะเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ
ลมพัดโชยไปมา ผ่านใบข้าวดังหวิวหวิว
และใบข้าวจะสะบัดพริ้วเป็นระลอกเลื่อนไหล
แลดูเหมือนกับใบข้าวกำลังหนีลมกราวเกรียวตลอดเวลา
และช่วงนั้นแหละที่จะได้พบเห็นลมไล่จูบใบข้าวครับ
พอนึกภาพออกไหมครับ นี่แหละท่อนแรกที่ผมได้ฟังแล้วเกิดอาการรื้นๆที่หัวตา







ลม จูบลูบไล้ข้าวรวง จนเม็ดข้าวร่วง ทำเอาทรวงเราเสียว

ท่อนนี้จริงๆแล้วเป็นท่อนแรกหรือเป็นต้นเพลงหลังจากขึ้นอินโทร
เนื้อเพลงท่อนนี้ว่ากันนานไปกว่านั้น คือต้องรอฤดูแล้ง
ก่อนเกี่ยวข้าวกันเลยทีเดียว ถึงจะมีภาพจากเพลงให้เห็น
ภาพนี้จะเป็นภาพทีเกิดในเดือนราวๆเมษายน
ซึ่งเป็นเดือนแห่งการเก็บเกี่ยว
ทุ่งนาหน้านี้จะเป็นนาที่ไม่มีน้ำแล้ว เป็นทุ่งนาแห้งๆ
ทุ่งข้าวจะเป็นสีทองอร่าม ลมหน้าร้อนพัดไล่ใบข้าวไปตามท้องนา
ลมที่ว่านี้ค่อนข้างแรงมากนะครับเพราะเวลานั้นเป็นเวลาแห่ง
ลมว่าวที่เด็กๆทุกคนตั้งตารอ บริเวณที่ผมไปขึ้นว่าวกันนั้น
จะมีต้นก้ามปูขนาดใหญ่และเถียงนาอยู่หลังหนึ่ง
ไม่รู้เหมือนกันว่าใครไปเรียกเถียงนาแห่งนั้นว่า ศาลาตาป้อม
อ้าว ก่อนจะว่าไปถึงรวงข้าวให้ถามตัวเองก่อนว่ารู้จักเถียงนาหรือเปล่า
นี่ถ้าไม่รู้จักก็จะบรรยายเพิ่มเติมไปว่า
คือศาลาขนาดเล็กที่ชาวนาปลูกไว้อย่างง่ายๆ ไม่มีฝา มีแต่เสากับหลังคา
เอาไว้พักหลบแดดหลบร่มกินข้าวนอนพักเหนื่อยยามทำนา นั่นแหละ
ศาลาตาป้อมที่ว่านี่เป็นที่นัดกันตอนเย็นๆครับ เด็กๆจะนัดกันว่า
เฮ้ย เย็นนี้ศาลาตาป้อมนะ ไปขึ้นว่าวกัน
ก็เป็นอันว่ารู้กันหละว่านัดกันตรงไหนของหมู่บ้าน





ช่วงที่นายังไม่เก็บเกี่ยวหรือกำลังเก็บเกี่ยว พวกเราไม่สามารถลงไปวิ่งเล่นในทุ่งได้
 เพราะอาจทำให้ข้าวที่กำลังตั้งท้องนั้นล้ม
ลำบากชาวนาที่ต้องมาก้มหลังพยุงต้นข้าวแล้วเกียว
เป็นการสร้างความเหนื่อยยากให้กับชาวนา
ดังนั้นก็ต้องรอให้เกี่ยวข้าวเสร็จเสียก่อน
การขึ้นว่าวนั้นจึงต้องรอให้มีที่ว่างที่ชาวนาได้เกี่ยวข้าวไปแล้วบางส่วน
หรือไม่ก็เสร็จแล้วทั้งนา เราถึงจะลงไปวิ่งว่าวได้
เพราะการวิ่งว่าวนั้น วิ่งกันเป็นทุ่งครับ กว่าจะขึ้นว่าวได้นี่ไม่ง่ายเลย
สองหอบสามหอบ หรือบางวันก็ไม่ได้ขึ้นเพราะถ้าเจอว่าวไม่สมประกอบ ลมไม่พัดตึง
ลมบนไม่มี กว่าจะขึ้นได้ก็มืดแล้วเลยอดกันไป

แล้วเมื่อว่าวขึ้นลมบนเรียนร้อยแล้ว เราก็ไม่ได้ทำอะไรอีก
นอกจากเอาป่านมาผูกเข้ากับตอซังข้าวแล้วเอนตัวลงนอนบนกองฟาง
ที่ชาวนากองสุมไว้หลังนวดข้าวแล้วนอนดูว่าวตัวน้อยๆ ลอยอยู่นิ่งๆบนฟ้า
เมื่อยามลมพัดผ่าน ผืนนาบางส่วนที่ยังรอการเก็บเกียว
เมื่อต้องกระแสลมพัดกรรโชก รวงข้าวสีทองสะบัด ก็จะมีข้าวท้องแก่บางส่วน
เมล็ดร่วงจากรวง เป็นอาการลมจูบลูบไล้ข้าวรวงที่ว่า
และยามนอนดูเพลินๆ ด้วยเหนื่อยจากการเล่าเรียนมาจนบ่าย
เด็กบ้านนอกอย่างผมก็ผลอยหลับไปจนตะวันลับอยู่เป็นนิจ...


ครูเพลงลูกทุ่งหลายๆท่านนี่เก่งนะครับ สามารถเขียนเนื้อร้องของเพลง
จากประสบการณ์จริงถ่ายทอดออกมาเป็นเพลงให้ได้ยินได้ฟัง
และจินตภาพให้ได้เห็นตามเพลงว่าได้อย่างอัศจรรย์
มีเพลงหนึ่งซึ่งผมฟังแล้วเศร้ามากหรือจะเรียกหยาบๆว่า เศร้าฉิบหายก็เป็นได้
เมื่อนึกภาพตามก็คือ เพลงเสียงขลุ่ยเรียกนาง
เพลงนี้เป็นเพลงลูกทุ่งที่ผมไม่ค่อยชอบฟังบ่อยๆนะครับ เพราะอย่างว่าคือมันเศร้าฉิบหาย
แต่นานๆฟังทีก็ยังเพราะฉิบหายอยู่เหมือนกัน(ฮา)

เพลงเสียงขลุ่ยเรียกนางนี่เป็นเพลงของนักร้องลูกทุ่งอมตะนิรันด์กาล
คือศรคีรี ศรีประจวบ คำร้องประพันธ์โดยครูเกษม สุวรรณเมนะ
เนื้อเพลงว่าด้วยไอ้หนุ่มเดิมบาง แถวย่านสุพรรณบุรี
ที่โดนสาวสวนแตงทิ้งเรื้อให้รอไว้กับขลุ่ยหนึ่งเลา
ซึ่งตะแกก็คอยเฝ้าแต่เป่าขลุยส่งเสียงเรียกให้แม่แตงร่มใบซึ่งหนีไปกรุงเทพ
กลับมาอยู่เป็นคู่ขวัญทุกวันวี่เพลงที่ว่านี้ผมได้ยินโดยบังเอิญระหว่างกำลังขับรถไปอยุธยา
ไปถ่ายภาพเมื่อสองปีที่แล้ว พอเปิดวิทยุมาท่อนกลางเพลง
เพลงที่ว่าก็แทงทะลุเข้าก้นบึ้งหัวใจของผม
และพาให้เลือดลูกทุ่งอยุธยาไหลโกรกกรากขึ้นมาในบัดดล

"หวิวไผ่ครางเคล้าลมอ่อนโอน ต้นตาลเดี่ยวสุดฝืนยืนต้น
ดั่งคนสูญสิ้นความหวัง ขลุ่ยบรรเลงเจ้ารับฟังเพลงพี่บ้าง
กลอยเอ๋ยอย่าราร้าง หนุ่มเดิมบางสุพรรณหลงคอย"

ใช่เลยผมเคยเห็นภาพนี้ แล้วเมื่อผมได้ยินเพลงท่อนนี้ มันเศร้าครับ
เศร้ายังไงหรือ ผมเคยเห็นภาพตามเนื้อเพลงที่ว่าครับ
ภาพที่เศร้าสุดบรรยายเรียกว่าอาจตายได้เมื่อพบเห็น






ครั้งกระโน้นแถวศาลาตาป้อม...
ก็แหม เด็กๆมันก็ไปได้แค่ย่านๆนั้นแหละ
ไปไหนไกลเกินระยะที่ผู้ปกครองกำหนด มีหวังโดนหวดสิครับ
เอ้า แถวศาลาตาป้อมนี่มีต้นตาลเยอะ อยู่ภาคกลางนี่ถ้าลองขับรถไล่จากอยุธยา
เข้าสุพรรณลงนครปฐมผ่านราชบุรีเข้าเพชรบุรีนี่รับรองได้ว่าถ้าปิดตาขับปุ๊บ
ตกลงข้างทางเป็นอันว่าต้องชนต้นตาล เพราะเป็นต้นไม้ที่มีมากมายแถบที่ว่านี่
และก็มักจะยืนต้นอยู่ตามคันนาเป็นกลุ่มๆ ต้นตาลนี่เป็นแหล่งรายได้รองของชาวนา
รองจากการเกียวข้าวเชียวนะครับทั้งต้นนี่มีประโยชน์หลายสถาน
ใบก็เอามามุงหลังคาแทนตับจากได้
มีฝีมือหน่อยก็หัตถกรรมไปทางเครื่องสาน ผูกปลาตะเพียน
น้ำตาลสดน้ำตาลเมาน้ำตาลปี๊บ ก็เป็นผลผลิตจากต้นตาลที่ว่า
ต้นยังไปทำเสาทำคานว่ากันไปตามส่วน
แต่ไอ้ที่ผมชอบที่สุดก็คือผลตาล ซึ่งถ้ามันสุก ร่วงลงใต้ต้น
เราก็จะเก็บไปขายให้แม่ค้าทำขนมไทยได้อัฐมาซื้อขนม
ผลตาลสุกนี่หอมมากนะครับ หอมจนอยากจะกัดกินทั้งดิบๆเลยเชียว
พอแม่ค้าได้ผลตาลมา ก็จะเอาไปลอกเปลือก เอาไปนวดไปบีบไปคั้นเอาน้ำ
กรองออกมาผสมแป้ง เอาไปนึ่ง เป็นขนมตาลออกมาให้ได้ซื้อหากัน
สมัยนี้ขนมตาลอร่อยๆหากินยากแล้ว สมัยก่อนมีเจ้าหนึ่งคือเจ้าป้าประไพ
หรือป้าไพญาติผม ป้าแกทำขนมตาลวันละหนึ่งกะละมังซักผ้า
ขายตรงสะพานเดินข้ามฝั่งอำเภอมาฝั่งตลาด ขายตั้งแต่ตีห้าพอสายๆก็หมด
เวลาผมเดินผ่านสะพานไปโรงเรียนเป็นอันว่าได้กินขนมตาลฟรีๆทุกเช้า
แต่หนักๆเข้ามันก็เบื่อ บวกกับพอโตขึ้นก็เกรงใจป้าแก
ถึงขนาดยอมยืนซุ่มๆรอให้ป้าแกสาละวนอยู่กับลูกค้า
แล้วผมก็วิ่งพรวดหนีของฟรีไปอยู่บ่อยๆ







เข้าเรื่องได้ คือ มีตาลุงคนหนึ่ง ที่ถ้าออกไปนาเมื่อไหร่ก็จะเจอแกอยู่ค่อนข้างบ่อย
ลุงแกชอบมานั่งใต้ต้นตาลที่มันยืนต้นอยู่เพียงต้นเดียวใกล้ๆศาลาตาป้อม
แกไม่ใส่เสื้อนะครับ คาดผ้าขาวม้าและนุ่งกางเกงอย่างชาวนา
ตกเย็นแกผิวขลุ่ยที่แกพกมาเป่าครวญเพลง เป็นเพลงทั้งเพลงเร็ว เพลงสนุกสนาน
และเพลงช้าอ้อยอิ่ง ฟากเมื่อยามสายันต์ ตะวันแดงเลื่อนลงต่ำ
แกมักจะผิวเพลงขุ่ยที่ทำนองมันโหยหวนเข้ากับบรรยากาศยามเย็น
ฟังแล้วเศร้ามากครับ เศร้าจนโศกเลยทีเดียว เสียงขลุ่ยมันหวานแว่ว
แต่มันก็ชวนให้บรรยากาศหดหู่ เพลงขลุ่ยมันปลิวไปตามลมเรื่อยๆ
เบางบ้างดังบ้างตามกระแสลม
ขนาดเด็กๆอย่างผมที่นอนอยู่แถวกองฟางใกล้ๆฟังแล้วยังขนลุก
แต่แกก็ไม่ได้เป่าเพลงเสียงขลุ่ยเรียกนางนะครับ
ผมไม่รู้เหมือนกันว่าลุงแกเป่าเพลงอะไร
แต่เทียบกับเพลงขลุ่ยของต้นเพลงเสียงขลุ่ยเรียกนางแล้วละก็
เศร้าประมาณกันเลยเห็นจะได้
ไม่รู้ว่าถ้าบังเอิญไอ้หนุ่มเดิมบาง เดินทางมาเยี่ยมญาติแถวอำเภออุทัย
จังหวัดอยุธยา และผ่านมาได้ยินเสียงขลุ่ยของตาลุงแกเมื่อยามนั้นละก็
มีหวังคงได้มาฆ่าตัวตายอยู่แถวศาลาตาป้อมนี่แน่ๆใครจะรู้





เพลงลูกทุ่งที่ผมชอบถึงขนาดเอาไปร้องออกงานได้ นี่มีไม่ค่อยมากนัก
เพลงหนึ่งที่ผมร้องบ่อยๆจนคนในบ้านร้องตามได้ก็คือ
เพลงลานเทสะเทือน เพลงนี้จะเป็นเพลงเศร้าก็ไม่ได้เศร้ามากนะครับ
เป็นแต่เพลงตัดพ้อ อีสาวลานเท ย่านบางไทร อยุธยา
ที่นั่งเรือเมล์เขียวเมล์แดงหรือเรือเมล์ขาว หนีหายไปเที่ยวกรุงเทพ
แล้วไม่กลับมาทิ้งให้ไอ้หนุ่มบางไทร รอเป็นเดือนเป็นปีก็เท่านั้นเอง

เพลงนี้เป็นเพลงที่ประพันธ์โดยครูวัฒนา พรอนันต์ เจ้าของบทเพลงอันโด่งดัง
ที่เราๆท่านๆรู้จักอีกเพลงก็คือ ขี่เก๋งอย่าลืมเกวียน
เพลงลานเทฯนี้ขับร้องคนแรกโดยสายันต์ สัญญา
ต่อมามีคนนำมาร้องอีกหลายแบบหลายรุ่น
แต่เวอร์ชั่นที่ผมชอบฟังก็เห็นจะเป็นของเจ้าชายลูกทุ่งก็อตจักรพรรณ์ อาบครบุรี
เพราะมันฟังดูเป็นลูกทุ่งร่วมสมัยหน่อย ไม่ค่อยยานคางมากเหมือนของพี่สายันต์

ผมชอบเพลงนี้มากที่สุดกว่าเพลงลูกทุ่งใดๆ
เพราะเป็นเพลงที่ผู้ประพันธ์ใช้สัมผัสทางภาษาได้คล้องจอง
มีทั้งสัมผัสนอกสัมผัสในซึ่งผสมกันได้อย่างกลมกลืนกันเป็นที่สุด
เรียกว่าท่านเป็นผู้ใช้ภาษาไทยได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และเก่งที่สุดผู้หนึ่ง
ฟักแล้วมันลื่นหูน่ะครับ ภาษาไทยเพลงนี้มันอัศจรรย์ทีเดียวแหละ





เสียงลมพัดตึง เคล้าคลึงยอดตอง
คิดถึงเนื้อทองสาวลั่นทมเจ้าจากลานเท
ทมนั่งรถท่องพอทั่วกรุงเทพก็ดีถมเถ
เพราะว่ากรุงเทพลานเท นั่งเรือด่วนเที่ยวเดี๋ยวเดียวก็ถึง
เขียวเอยขาวเอย แล่นเลยทุกลำ
มิมีโฉมงามสาวแก้มนวลพี่สุดคะนึง
พ่อแม่ร้องไห้ทมไม่คืนทุ่งป้าลุงถามถึง
หรือเพื่อนกรุงเทพคอยดึง ผู้คนคงทึ่งสาวทุ่งลานเท

จากวันเป็นเดือน จากเดือนเคลื่อนไปเป็นปี
ลั่นทมไม่มาสักทีพวกพ้องน้องพี่ผู้คนสนเท่
รถเก๋งเพลงหวานตึกรามโอฬาร สวรรค์ทั้งเพ
สาธุเจ้าแม่ลานเท อย่าให้ลั่นทมอุ้มท้องคืนทุ่ง

เสียงเรือโครมครืน ทุกคืนพี่ตรม
คิดถึงลั่นทมโฉมบังอรโอ้หล่อนเพลินกรุง
เราทุ่มรักเก้อ เราเซ่อยอมก้มลั่นทมเขาสูง
ถึงกล้าไปเทียบคนกรุง พี่นอนสะดุ้งเหมือนทุ่งสะเทือน...


เพลงนี้เป็นเพลงลูกทุ่งที่ผมชอบที่สุด เลยตัดใจลงเนื้อร้องให้เต็มเพลง
เผื่อจะมีคนหาฟังแล้วชอบแบบผม(ฮา)
ลานเทนี่ผมเคยไปหาๆดูก็ได้ความมาจากในอินเตอร์เน็ตว่า
อยู่แถวย่านๆบางไทร อยุธยา
เป็นย่านที่แม่น้ำเจ้าพระยามีความกว้างที่สุดของสาย
ว่ากันว่าเป็นลานปลูกข้าวของชาวนา แต่ด้วยว่าน้ำคงท่วมถึงบ่อย
ชาวนาจึงทิ้งไว้ให้เป็นที่ว่างร้าง และต่อมาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
ทรงนำที่ร้างนั้นมาพัฒนาจนกลายเป็นศูนย์ศิลปาชีพบางไทรดังเช่นในปัจจุบัน
ในคำเพลงที่ว่าเสียงเรือโครมครืนทุกคืนพี่ตรมกับ
เขียวเอยขาวเอย แล่นเลยทุกลำ นี่แหละเป็นภาพที่ผมเคยได้ยินได้เห็นตอนเด็กๆ

บ้านยายผมที่อยุธยานี่ปลูกติดคลอง เป็นคลองกิ่งสาขาแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา
สมัยก่อนการคมนาคมนี่ไม่ได้สะดวกเหมือนสมัยนี้นะ
อำเภออุทัยบ้านผมนี่เป็นเสมือนอำเภอที่เป็นซอยตัน
ไปไหนต่อไม่ได้ และตัวอำเภอถูกแบ่งเป็นสองฟากคือฝั่งตลาด
กับฝั่งอำเภอ โดยมีคลองขีดกลางกั้นขวางไว้
รถรานี่มาจะจอดสุดแค่ฝั่งตลาด ไม่สามารถข้ามมายังฝั่งอำเภอได้
จะเดินข้ามมาฝั่งอำเภอต้องข้ามสะพานไม้ข้ามคลองเอา
สะพานที่ว่านี่ก็เป็นสะพานไม้ยกสูงให้เรือใหญ่ๆผ่านได้
ชาวบ้านจากตำบลอื่นถ้าจะเดินทางไปในตัวจังหวัด
และจะกลับเข้าตัวตำบลตอนขากลับ ต้องมาขึ้นเรือเมล์หางยาว
ที่ท่าเรือแถวเยื้องๆบ้านผมซึ่งเรือจะออกเป็นรอบๆตลอดทั้งวัน
และรอบสุดท้ายราวๆถ้าจำไม่ผิดก็สองทุ่ม เรือที่วิ่งนี่ก็จะเป็นเรื่อเครื่อง
หางยาวๆ มีสักยี่สิบลำเห็นจะได้ วิ่งสลับไปมารับส่งจากต่างตำบล

แม่ค้าตาคมนี่ก็เป็นหนึ่งในจำนวนเพลงลูกทุ่งที่ผมประทับใจอยู่อีกเพลง
ได้ยินเพลงนี้อีตอนที่เขาประกวดร้องเพลงกันในรายการชิงช้าสวรรค์
ทางช่องเจ็ดสีทีวีเพื่อคุณ น้องๆที่มาประกวดนี่เขาทำรีวิวประกอบเพลง
เป็นบรรยากาศท่าเรือ ที่มีไอ้หนุ่มมาคอยถามหาแฟนจากคนที่ขึ้นเรือลงเรือ
แถวๆนั้นว่าเคยเห็นแฟนแกที่เป็นแม่ค้าตาคมไหม หายไปไหนไม่รู้เจอกันตอนขามา
พอขากลับแม่ค้าก็หายไปซะแล้ว



เพลงแม่ค้าตาคมประพันธ์โดยครูไพบูลย์ บุตรขัน
ครูเพลงที่บรรดานักแต่เพลงและนักร้องลูกทุ่งหลายๆท่านยกย่องให้เป็น
ครูเพลงลูกทุ่งที่เก่งที่สุดของเมืองไทย
ความเพลงมีว่าเจ้าหนุ่มอำเภอบ้านแพน อยุธยา
ลงเรือด่วนเข้ากทม.มาพร้อมกับแม่ค้าตาหวาน แล้วยังไม่ทันจะถึงกรุงเทพ
แค่เรือแล่นถึงปทุมธานี เรือมันคงช้ามากๆ สองคนเลยตกลงเป็นแฟนกัน(ฮา)
แต่พอเรือถึงกรุงเทพ แม่ค้าคนสวยก็มีอันหายไป
และไอ้หนุ่มก็ยังเฝ้ารอสาวอยู่แถวๆท่าเตียนเสมอๆ

พี่พบเนื้อนวลมานั่งเรือด่วนสายบ้านแพน
เราต่างรักกันเหมือนแฟนเมื่อเรือด่วนแล่นถึงเมืองปทุม
เรือด่วนวิ่งไปเหมือนหัวใจพี่ตกหลุม
พี่หลงรักแม่เนื้อนุ่มแม่ค้าสาวชาวบ้านแพน



บ้านยายผมมีสะพานไม้ยื่นยาวลงไปในคลองอยู่บ้านเดียวแหละ
ใครไปใครมาก็จะรู้ว่าบ้านที่มีสะพายยื่นๆลงไปในน้ำนี่คือบ้านหมอชิต
อ้อตากับยายผมเป็นหมอครับ สะพานที่ว่านี่ก็คงทำไว้ด้วยเหตุที่ว่า
ให้คนเจ็บคนป่วยลงเรือแล้วเดินเข้าหาหมอได้รวดเร็ว
ไม่ต้องปีนป่ายตลิ่งให้หวาดเสียวจะหล่นน้ำหล่นท่า

เวลาเย็นๆผมกับพี่ๆน้องๆก็จะคดข้าวราดแกงอย่างสองอย่าง
ตักน้ำเย็นโรดมะลิมาขันหนึ่ง ออกมานั่งดูเรือหางยาววิ่งไปวิ่งมา
และกินข้าวไปพลางคุยกันไปพลาง คอยดูคนขึ้นเรือ ลงเรือ
แม่ค้าพ่อขาย พายเรือผ่านหน้าบ้านไปอย่างช้าๆในลำคลองเวียนกันไปมา
เรือพวงเรือแจว ยังคงมาจอดขึ้นของลงของที่ท่าจอด
แพขายของสองสามแพจอดเกยอยู่ริมตลิ่งยามน้ำลง
และไหวไปมาเมื่อโดนคลื่นซัดในยามน้ำล้นฝั่ง
เรือข้าวเรือโยง แล่นเอื่อยๆสวนกับเรือหางยาวที่ตะบึงผ่านไป
ส่งผู้โดยสารต่างตำบลอย่าเร่งรีบ ส่งคลื่นคลองกระทบฝั่งดังอยู่ "โครมครืน"


พอโตขึ้นมาสักหน่อย ก็ไม่ดูแล้วเรือพาย เปลี่ยนมาเป็นแอบดูสาวๆ
ที่โดยสารเรือผ่านตาไปบ้างอย่างอายๆน่าจะดีกว่า
แหมมันบันเทิงอย่างบอกไม่ถูกเชียว
เคยมีครังหนึ่งเจอสาวต่างถิ่นโดยสารเรือผ่านหน้าบ้าน
จู่ๆสาวเจ้าโบกมือให้ผมตกใจวิ่งหนีเข้าบ้านเลยนะครับ หนีไปแอบอายอยู่ในบ้าน
ด้วยไม่เคยเจอสาวสวยทักทายแบบนี้มาก่อน เคยแต่โบกมือทักสาวแล้วสาวก็เมิน
เจอทักเข้าก่อน เล่นเอาอายหัวทิ่ม ก็คนมันเขิน

ภาพในเพลงที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นเหมือนกับภาพที่ผมเห็นนี่แหละ
มันจึงเกิดอาการซาบซ่าในหัวใจเมื่อได้ฟังได้ยิน
และทำให้คิดถึงบ้านเป็นที่สุดและอยากกลับไปเห็นภาพอย่างที่เคยเห็นเป็นที่สุด
แต่ก็นั่นแหละเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปก็คงไม่มีใครได้เห็นภาพเหล่านั้นอีกแล้ว
ผมคงไม่มีโอกาสได้เห็น ลมไล้ใบข้าว และ แม่ค้าตาคม
อย่างที่เคยได้เห็นเพราะสุดท้ายความเจริญมันก็ถลาเข้ามา
พรากเอาภาพสวยงามเหล่านั้นออกไปจนหมดสิ้น
แต่ก็ยังดี ที่ผมยังมีเพลงลูกทุ่งให้ร้องและรำลึกถึง "เหง้า" ในอดีตของตัวเอง
และ "ราก" ของตัวเองว่ามันยังคงหยั่งลึกอยู่ในตัวและในใจของผมเสมอ
ผมอยากให้เวลาเดิมๆที่พ้นไป หวนกลับมาอีกสักครั้งถ้ามันจะเป็นไปได้
ดังเช่น ไอ้หนุ่มบ้านแพน ที่มันยังคงรอแม่ค้าตาคมอยู่อย่างเก้อๆแถวท่าเตียน
ลองหลับตาสิครับเห็นไหม แม่ค้าคนนั้นส่งตาหวานให้คุณแน่ะ.....





"แม่ค้าหน้านวลเคยนั่งเรือด่วนสายบ้านแพน
ใยหลบหน้าตาหนีแฟนเมื่อเรือด่วนแล่นคิดถึงแต่เธอ
เคยฝากจดหมาย นายท้ายเรือให้เสมอ
พี่หลงคอย คอยน้องเก้อเฝ้าหลงคอยเธอท่าเตียนทุกวัน..."

.........................................................................................................
ปล.ล่าสุดนี่บ้านอยุธยาผมโดนน้ำท่วมหนักหนาเลยสงสัยว่าตกลง

น้ำท่วมน้องว่าดีกว่าฝนแล้ง
พี่ว่าน้ำแห้งปล่อยให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า
555

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักไหม ยอดแหลม น่ะ ยอดแหลม

คุณเชื่อเรื่อง พรหมลิขิตไหม....

ดนตรีเศร้าหมองแห่งการบำบัด