Hayao Miyazaki โตโตโร่ และบ้านอุทัย

ผมไม่รู้ว่าจะขึ้นต้นเล่าเรื่องนี้อย่างไรดีจึงจะดูเหมาะสม
รู้แต่ว่าผมอยากเขียนอะไรลงไปใน blog
หลังจากไม่ได้เขียนมานานแสนนาน มือไม้มันก็แข็งไปบ้าง
สมองที่ใช้สร้างจินตนาการมันคงล้า
เลยไม่มีความอยากจะเขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
วันนี้วันที่ 13 ตุลาคม 2557 เมื่อวานผมอายุครบ 44 ปี
ผมซื้อของขวัญวันเกิดให้ตัวเองเป็นหนังสี่เรื่อง
สามในสี่เรื่องเป็นหนังการ์ตูน ของStudio Ghibli
เป็นการ์ตูนที่ผมซื้อซ้ำๆมาสองสามหนแล้วกับค่ายนี้ ทำไมน่ะหรือ
ผมรักการ์ตูนค่ายนี้สิครับ ผมถึงตัดสินใจซื้อซ้ำได้บ่อยๆ

โตโตโร่ ผมได้ยินชื่อนี้ครั้งแรกจากอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งท่านเป็นชาวอิตาลี่
แกสอนวิชาชื่อ Media and audience ให้กับผมตอนเรียนปริญญาโทที่ออสเตรเลีย
อาจารย์ท่านพูดชื่อนี้มาในห้องแล้วก็ถามว่า
มีใครรู้จักโตโตโร่บ้าง มีไหม คนไทยรู้จักไหมฮายาโอะ มิยาซากิ
ในกลุ่มคนไทยสองสามคนนั้นมีน้องผู้หญิงคนหนึ่ง ยกมือแล้วบอกว่า ฉันรู้จัก
และฉันดูทุกเรื่องของ Studio Ghibli จากนั้นน้องก็หันมาถามผมว่า พี่รู้จักหรือเปล่า
ไอ้ด้วยความว่าเสียหน้านี่มันคงเป็นเรื่องที่ผมไม่อยากให้เกิด ผมเลยตอบไปว่ารู้จัก
แล้วน้องก็ถามว่า พี่ชอบเรื่องไหน
อันนี้ความซวยมันพาให้นึกอะไรไม่ออก ในใจก็คิดแต่ว่า
"กูไม่รู้จัก อะไรวะ คืออะไรวะ"
แต่ก็นะ ด้วยสัญชาติญาณ ผมก็เลยพูดไปว่า
"ก็ไอ้โตโตโร่นี่แหละที่พี่ชอบ"
"เหมือนหนูเลยพี่"
น้องแกตอบพร้อมกับส่งสีหน้าเหมือนเจอญาติที่ไม่เจอกันมาสามสิบปี
พร้อมประกายตาวิบวับ ราวกับได้ของถูกใจ อย่างที่สุด
แต่ขณะนั้นในหัวผมก็มีเสียงเหมือนกันแต่มันเป็นเสียงร้องอุทานว่า
"ซวยละกู"
จากนั้นน้องก็หันไปสนทนากับในห้องและอาจารย์เกี่ยวกับ
ชายปริศนาที่ชื่อ Hayao Miyazaki โตโตโร่ และอะไรสักอย่างที่ผมไม่รู้จักจนหมดคาบเรียน

สิ้นคาบเรียนผมเห็นน้องผู้หญิงที่สนทนาด้วยเดินปรี่เข้ามาทำท่าเหมือนจะคุย
ชะรอยความไวในสมองคิดได้ทันว่าน้องคงจะมาคุยเรื่องไอ้โตโตโร่อะไรนี่แน่ๆ
ผมจึงชิงบอกน้องไปว่าปวดท้อง ขอไปห้องน้ำ และสุดท้ายก็แอบออกไปทางหลังตึก
ขึ้นรถไฟกลับบ้านไปอย่างสงสัย
โตโตโร่ ฮายาโอะ มิยาซากิ Studio Ghibli มันคืออะไร

กลับถึงบ้าน ผมไม่รีรอให้ความสงสัยมันอยู่นานเกินเก็บ
ผมเปิดคอมพิวเตอร์ เข้าอินเตอร์เนต จากนั้นก็ค้นคำว่า "Totoro"
แล้วผมก็พบกับสิ่งนี้เป็นสิ่งแรก




การ์ตูน มันคือการ์ตูนเด็ก
อ้าว แล้วทำไม่อาจารย์ชาวอิตาลี่รู้จัก
เพื่อนสาวชาวแคนนาดารู้จัก
ไอ้ฮิโระ เพื่อนชาวญี่ปุ่นมันทำหน้าเหมือนตกใจที่มีคนหลายคนรู้จัก
การ์ตูนของประเทศมัน
น้องสาวผู้เป็นเพื่อนร่วมชั้นของผมคนหนึ่งก็รู้จัก
คนในห้องนั้น กว่าค่อนห้องยกมือบอกว่ารู้จัก
พร้อมส่งรอยยิ้มและตาเป็นประกายให้กับคนที่รู้จักด้วยกัน
โดยไม่เลือกประเทศ สัญชาติ และเชื้อชาติ
ที่สำคัญ นี่มันห้องเรียนปริญญาโท ไม่ใช่ห้องเด็กอนุบาลหรือประถม
ทำไมทุกคนรู้จัก มันสนุกตรงไหน โตโตโร่ ผมนั่งดูตัวอย่างการ์ตูนนี้ไปจนครบเวลา
นาทีกว่าๆ แล้วก็ปิด เข้านอน ก่อนนอนก็เก็บความสงสัยไว้ในใจว่า
Hayao Miyazaki

เช้าวันถัดมาเป็นวันหยุด ผมตื่นแต่เช้ามานั่งกินกาแฟอยู่แถวในเมือง
เนื่องจากปกติถ้าไม่มีเรียน ผมจะไปตระเวนเดินดูนู่นนี่ในเมืองและเพื่อหาซื้อของกิน
รวมถึงของใช้ แถวThai town ไปซื้อหอม กะปิ น้ำปลา
หรือบางทีก็ไปแล่นไป China town ไปซื้อเห็ดแห้ง กุ้งแห้ง มาตุนไว้ทำอาหาร
ขณะกำลังเดินกลับด้วยให้บังเอิญเดินผ่านร้านวีดีโอจีน มีป้ายขนาดใหญ่ป้ายหนึ่ง
เขียนว่า Studio Ghibli ผมจึงเดินย่องๆเข้าไปดู

ไม่เกิน 10 นาทีได้เสียเงิน 30 เหรียญ ซึ่งก็มากอยู่
ผมได้หนังการ์ตูนของค่าย Studio Ghibli มายกชุด เกือบๆ 20 เรื่อง
แล้วอาทิตย์นั้นทั้งอาทิตย์ ผมก็ทำความรู้จักกับ
Studio Ghibli โตโตโร่ และลุง Hayao Miyazaki

ในบรรดาการ์ตูนของญี่ปุ่นนอกจากโดเรม่อน แมวสีฟ้าตัวอ้วน
ที่โด่งดังไปจนทั่วโลกทุกคนรู้จักแล้ว ก็คงมีการ์ตูนของอีกค่ายหนึ่ง
ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี และดูได้ดูดีทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ก็คงเป็นของค่ายนี้
Studio Ghibli


เจ้าของสตูดิโอจิบูลิ หรือ จิบลิ ก็คือ ลุงฮายาโอะมิยาซากิ
คือถ้าโลกฝั่งตะวันตกมีคนชื่อ วอลท์ ดีสนี่ เป็นราชาการ์ตูน
ฝั่งตะวันออกก็คงมีลุงฮายาโอะ มิยาซากินี่แหละ
ที่เป็นราชาการ์ตูนของฝั่งตะวันออก เช่นเดียวกัน
จริงๆถ้านึกย้อนๆไปช่วงยุค 70 ผมก็คงราวๆ 7 ขวบ ช่วงนั้นมีการ์ตูนเรื่องหนึ่งชื่อ
เจ้าหนูโคนัน เป็นการ์ตูนญี่ปุ่น จำไม่ได้ว่าฉายทางช่องอะไร แต่ที่ผมจำได้คือ
เป็นการ์ตูนที่ผมชอบดู สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของการตูนค่ายจิบูลิก็คือ
ลักษณะของหน้าตาของตัวการ์ตูนที่ว่าจะคล้ายๆกัน
พอมาวันที่ผมเริ่มจริงๆจังกับจิบูลิ ความทรงจำที่ว่าผมเคยดูการ์ตูนเรื่องนี้มาแล้ว
มันจึงผุดพรายขึ้นมาได้จากส่วนลึกๆที่เก็บซ่อนไว้

สมัยเด็กๆ ช่วงที่ผมอาศัยอยู่กับยายที่อยุธยา อำเภออุทัย วันว่างของเด็กๆอายุราวๆ
สิบขวบกว่าๆก็คือ การวิ่งเล่นผจญภัย ไปตามทุ่งข้าวแถวๆบ้าน
เช้าขึ้นพอตื่นนอนก็ต้องรีบกินข้าวให้เสร็จไวๆ เพื่อจะได้ออกไปข้างนอกกับเพื่อน
แถวบ้านราวๆสองสามคน
กิจกรรมก็คงเป็นเริ่มต้นด้วยการวิ่งไปแถวทุ่งข้าว ไปดูปู ดูปลา ตามริมหนอง
บางทีก็เดินไปเรื่อยๆ เลาะไปตามริมถนนใหญ่ ที่มีลำธารเล็กๆไหลเอื่อยๆ
ถอดรองเท้ากองไว้ริมทาง แล้วก็ลงไปจับปลาตัวเล็กๆมาใส่ขวดโหล
เอากลับมานั่งดูมันว่ายไปมาในโลกขวดแก้วจนพอใจ
แล้วก็ปล่อยลงไปในคลองน้ำหน้าบ้าน ให้มันเป็นอิสระ
บางทีในระหว่างเดินไปเรื่อยๆ เจอต้นไม้ใหญ่ๆ เราก็ปีป่ายขึ้นไป ถ้าเป็นต้นไม้
เช่นมะขามเทศ เราก็เก็บฝักสีแดงๆของมันมากิน รสชาติก็ไม่ได้อร่อยอะไร
หวานๆเฝื่อนๆ ไปตามเรื่อง กินเสร็จก็ปีนไปสูงๆหน่อย เผื่อเจอรังนก
ก็แค่ชะโงกหน้าไปดูว่ามีใข่นกหรือเปล่า ถ้ามีก็ตื่นเต้นไปตามเรื่อง
ถ้าไม่มีก็แสดงว่าเป็นรังร้าง เอาลงมาเล่นเป็นเรือลอยน้ำไปได้
บางทีถ้าเป็นต้นไม้ใหญ่มาก เช่นมีต้นหนึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านคนละฝั่งคลอง
พวกเราก็จะว่ายน้ำข้ามไป จานั้นก็ปีนป่ายขึ้นไปให้สูงๆ
ไปนั่งรับลมเย็นเอื่อยๆ ที่พัดมาในฤดูร้อน บางทีก็แอบหลับอยู่ที่คาคบไม้นั้น
เลยไปจนมืดจนค่ำ เวลาลงก็ไม่ต้องปีนลงหรอก
กระโดดทีเดียวลงน้ำมาเลยนั้นและมันถึงจะสนุก

ที่เล่ามายาวๆข้างบนนี่ไม่ใช่อะไร
ผมมาค้นเจอเอาสิ่งที่ผมคงไม่มีโอกาสเจออีกแล้วในชีวิตนี้ในการ์ตูนของ
ลุงมิยาซากิในเรื่องโตโตโร่
โตโตโร่เป็นการ์ตูนที่ตรงกับความรู้สึกในใจผมมากที่สุด
เนื้อหาของเรื่องจริงๆไม่ได้เกี่ยวข้องกับผมมากนัก
เพราะโตโตโร่เป็นการ์ตูนที่ว่าด้วย เด็กน้อยสองคนคือ เมย์ และ ซัทซึกิ
ซึ่งย้ายบ้านออกมาอยู่อีกเมืองในชนบท เพือให้ใกล้กับโรงพยาบาทที่แม่ของ
ทั้งคู่นอนป่วยอยู่ โดนพ่อของเมย์และซัทซึกิเป็นนักเขียน
ซึ่งบ้านใหม่ที่ย้ายมานั้น เป็นบ้านที่อยู่ในชนบทไกลๆ มีลำธาร
มีภูเขา มีต้นไม้ใหญ่ๆ และที่ภูเขาแถวบ่นนั้นมีศาลเจ้า
และเทพเจ้าที่คอยปกป้องดูแลธรรมชาติอยู่ก็คือ โตโตโร่

ผมพบว่าเวลาที่ผมดูการ์ตูนเรื่องนี้ทีไรในใจมันก็อยากกลับไปเป็นเด็ก
อยากออกไปวิ่งเล่นที่ทุ่งหญ้าหลังบ้าน อยากออกไปปีนต้นไม้
ไปไล่จับแมลงปอ ไปว่ายน้ำใสๆในคลองแถวบ้านยามน้ำล้นฝั่ง

ฉากที่ซัทซึกิกับเมย์ยืนรอรถเมล์ของพ่อกลับมาจากที่ทำงานตอนค่ำ
นั่นเป็นครั้งแรกที่ซัทซึกิได้เจอกับเทพเจ้าแห่งป่าก็คือโตโตโร่
ฉากนั้นก็ทำให้ผมนึกไปถึงตอนค่ำๆเวลาฝนตกที่บ้านอุทัย
บางทีถ้าไม่มีใครว่าอะไร ผมก็มักจะออกไปยืนแถวๆใต้ต้นมะม่วงในสวน
ทั้งที่ฝนตก ลมพัดแรง แต่ความสนุกก็คือ เราจะได้ยืนฟังเสียงฝนตก
กระทบใบไม้เปาะๆแปะๆ เสียงลมพัดกระทบยอดมะม่วงหวิวๆ
และรอให้ลมพัดแรงมากๆผลมะม่วงสุกก็จะหล่นลงมาที่พื้น
เราก็จะวิ่งไปช่วยกันหาไปเก็บมากิน
หรือถ้ามีมากนักก็เก็บไว้ให้ยายเอาไปทำมะม่วงกวน

ในการ์ตูนของลุงมิยาซากิเกือบทุกเรื่อง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดูแล
และการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ความรัก ความเศร้า ความสุข และความทุกข์
ของผู้คนที่ ต่างลักษณะต่างรูปแบบ หรือบางทีก็สือสารออกมาเป็นสิ่งอื่น
ที่ไม่ได้อยู่ในรูบลักษณะของมนุษย์ เช่น หมู ปลา มังกรแม้กระทั่งผีปีศาจ
เพียงแต่การสื่อสารนั้นยังคงอยู่ในรูปของการ์ตูน
ซึ่งง่ายต่อการสร้างความเข้าใจและรับรู้ของคนทุกคน
ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ดังนั้นผมไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่
ที่คนส่วนหนึ่งในโลกจะชอบและรักการ์ตูนของค่าย Studio Ghibli
เพราะบางครั้ง การส่งข้อความที่จะสื่อให้ทุกคนเข้าใจ มันไม่จำเป็นต้อง
ทำอะไรให้ยุ่งยาก วุ่นวาย หรือ ยากต่อการรับรู้ ซึ่งอาจผิดเพี้ยน
หรือผิดวัตถุประสงค์ของการส่งสารจากผู้ส่งไปหาผู้รับ
สุดท้าย การเลือกส่งสารที่สามารถเข้าใจได้ง่ายต่างหาก จึงเป็นช่องทาง
ที่ดีที่สุด ซึ่งช่องทางของการส่งสารจากลุงฮายาโอะ มิยาซากิ ไปหาคนทั้งโลก
และเข้ามาถึงผมก็คือ การ์ตูน และสารที่ผมรับได้จากครั้งแรกก็คือ
Totoro


...........................................................



โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักไหม ยอดแหลม น่ะ ยอดแหลม

คุณเชื่อเรื่อง พรหมลิขิตไหม....

ดนตรีเศร้าหมองแห่งการบำบัด